Think In Truth
'พระยาศรีโตรตะบอง'กับความสัมพันธ์ เขมร ลาว ไทย โดย: ฟอนต์ สีดำ

หากท่านผู้อ่านเคยเดินทางเข้าไปในประเทศกัมพูชา เพื่อไปท่องเที่ยวดินแดนประวัติศาสตร์นครวัด นครธม ในจังหวัดเสียมเรียบ ก็จะต้องเดินทางผ่านอนุสาวรีย์โคตรตะบอง ในจังหวัดพระตะบอง หรือที่ชาวกัมพูชาเรียดว่า “บัดตัมบอง” ซึ่งหลายท่านก็คงแปลกใจว่าทำไมอนุสาวรีย์แห่งนี้จึงเป็นพระรูปบุคคลที่มีตัวสีดำ ริมฝีปากแดง ดวงตาเหลือกโพรง ถือพานที่ชูกระบองสีดำ หลายคนก็จะรู้ว่าคืออนุสาวรีย์พระยาพระตะบอง และหลายคนก็จะไม่รู้แล้วก็คงจะออกอาการขำๆ ว่าอนุสาวรีย์ชายสีดำนี้เป็นใคร??..
อนุสาวรีย์ชายตัวดำ นั่งคลุกเข่าถือพานชูตะบองสีดำเหนือหัว ที่อยู่วงแหวนใจกลางเมืองพระตะบองนั้น คือพระยาศรีโคตรตะบอง ความสำคัญของพระยาศรีโคตรตะบองมีความสำคัญจนถึงทำให้กองประกวดมีสยูนิเวอร์กัมพูชาได้ใช้บุคลิกและการแต่งกายของพระยาโศรีโคตรตะบองเป็นชุดประจำชาติ ปี พ.ศ.2025
ตำนานของพระยาศรีโคตรตะบอง มีอยู่ว่า ที่ชุมชนนอกเมืองนครหลวง หรือนครธม ชุมชนนอกเมืองหลวงเหมือนกับเมืองเทวทหะ ที่เป็นเมืองของพระนางพิมพายโสธรา พระมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะ เพราะ เทวทหะ แปลว่า เทวดาธรรมดา เมืองเทวทหะ จึงหมายถึงเมืองของเทวดาธรรมดา หรือชานเมืองหลวง หรือเมืองรองจากเมืองหลวงที่เป็นเมืองทั่วไปนั่นเอง ชุมนนอกเมืองที่เป็นถิ่นกำเนิดของพระยาศรีโคตรตะบองนี้อยู่ที่เมืองพะตะบอง ในปัจจุบัน มีสองผัวเมียชาวนาคนหนึ่งคู่หนึ่งมีฐานะยากจน และมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อว่า “ศรี” เมื่อเด็กชายศรีมีอายุแปดขวบ พ่อกับแม่งก็เอาไปฝากบวชเรียนกับพระอาจารย์ที่วัด สามเณรศรีเป็นผู้ที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสามารถท่องพระคาถาในตำราได้หมด และสามารถท่องปากเปล่าได้ทุกบท จนเป็นที่เคารพต่อญาติโยมที่เป็นพุทธบริษัทในระแวกสำนักแห่งนั้น
เมื่ออายุครบสิบสี่ปี สามเณรศรีจึงขอลาสิกขาบท ออกมาช่วยพ่อแม่ทำไร่ไถนา ด้วยเซียงศรีเป็นผู้ที่มีรูปร่างผอมบาง พ่อแม่ก็เป็นห่วงว่าจะทำงานหนักไม่ไหว จึงได้นำเซียงศรีไปฝากให้ทำงานกับเข้าเมือง และเซียงศรีก็ได้มีหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงช้าง ด้วยที่เซียงศรีเป็นผู้ที่มีวิชาอาคมที่ได้จากการบวชเรียนในวัดมา จึงสามารถสะกดช้างให้เชื่องได้ ช้างที่ผ่านการเลี้ยงดูจากเซียงศรีจึงเป็นช้างที่เชื่อง แสนรู้ ใช้งานง่าย ไม่มีอารมณ์ดุร้าย และตกมัน การเลี้ยงช้างของเซียงศรีจึงเป็นเรื่องที่ง่ายและทำให้มีเวลาในการเล่นสนุกกับคนรับใช้กลุ่มอื่นๆ เซียงศรีจึงถูกชักชวนให้เข้าไปเก็บฟืนในป่ามาทำเป็นเชื้อเพลิง เพื่อใช้ในการทำอาหารในวังของเจ้าเมือง ด้วยเซียงศรีเป็นเด็กที่มีร่างกายผอมแห้ง ดูไม่แข็งแรง ก็มักจะถูกใช้ใหเป็นคนเตรียมหุงหาอาหารรอคนอื่นๆ ไปหาฟืนกลับมาทุกครั้ง
ครั้งหนึ่ง เซียงศรีก็ถูกชักชวนให้เข้าไปเก็บฟืนในป่าอีกเช่นเคย เชียงศรีก็เป็นผู้ที่มีหน้าที่ทำอาหารเที่ยงรอคนอื่นกลับมาจากหาฟืนได้ทานเหมือนเดิม ครั้งนี้เซียงศรีลืมไม้คดข้าวที่ใช้ในการส่ายข้าวมาด้วย เลยไปหากิ่งไม้มาเหลาเป็นไม้คดข้าว เซียงศรีไปตัดกิ่งไม้มาทำไม้คดข้าวปรากฏว่าข้าวเมื่อโดนไม้คดข้าวนั้นกลับกลายเป็นสีดำ ทำให้เซียงศรีตกใจ เลยขว้างไม้นั้นทิ้งเข้าป่าไป และแยกข้าวที่ดำออกและหาไม้อย่างอื่นมาคดข้าวแทน แต่ข้าวที่อยู่ในซึ้งหุงข้าวเหนียวมีเพียงพอแค่สำหรับคนที่ไปเก็บฟืน เซียงศรีจึงยอมที่จะทานข้าวดำจนหมดคนเดียว หลังจากนั้นเชียงศรีกลับมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ที่มีเรี่ยวแรงขึ้นมามาก ลองผลักต้นไม้ใหญ่ปรากฏว่าต้นไม้ล้มลงอย่างน่าประหลาดใจ ลองกระโดดโลดเต้น ก็พบว่าตัวเองสามารถกระโดดขึ้นสู่ยอดไม้ได้โดนที่ไม่ต้องปีน ทำให้เซียงศรีเกิดนึกสนุกอยากแกล้งพวกที่ไปเก็บฟืน เลยออกแรงโน้มต้นยางใหญ่ลงมา แล้วเอากระติ๊บข้าวแขวนที่ยอดยางใหญ่ต้นนั้น แล้วปล่อยให้ต้นยางดีดตัวขึ้นตั้งตรงเหมือนเดิม รอจนพวกเก็บฟืนกลับมา ก็ถามเซียงศรีว่ากระติ๊บข้าวอยูไหน เซียงศรีก็ชี้ขึ้นไปบนยอดต้นยางใหญ่ คนเก็บฟื้นทั้งหิวทั้งโกรธ ไล่ตีเซียงศรี เซียงศรีก็วิ่งหนีและกระโดดขึ้นบนยอดไม้ใหญ่ที่ทำให้คนเก็บฟืนไม่สามารถตีได้ จนคนเก็บฟืนได้ขอร้องให้เซียงศรีเอากระติ๊บข้าวลงมา เซียงศรีจึงลงมาจากยอดไม้ใหญ่ แล้วไปโน้มต้นยางใหญ่ลงมาจนยอดถึงพื้นดินและสามารถปลดกระติ๊บข้าวลงทานได้ หลังจากนั้นเรื่องราวที่เซียงศรีเป็นคนที่แข็งแรง มีวิชาอาคมในการปราบช้างให้เชื่องได้ก็ลือกระฉ่อนไปทั้งเมือง ลือไปไกลถึงเมืองนครหลวงเวียงจันทน์
ขณะนั้นเมืองนครหลวงเวียงจันทน์กำลังเดือดร้อนเรื่องช้างป่าลงมารบกวนผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน และเข้ามารื้อถอนอาคารบ้านเรือนของชาวบ้าน ซึ่งไม่มีใครที่จะปราบช้างป่าโขลงนั้นได้ เจ้านครหลวงเวียงจันทร์จึงประกาศหาผู้ที่จะมาปราบช้างป่าโขลงนั้น ถ้าใครปราบช้างป่าไม่ให้ลงมารบกวนชาวเมืองเวียงจันทน์ได้ จะยกลูกสาวชื่อ “นางเขียวข่อม” ให้เป็นมเหสี และยกเมืองโคตรบูรณ์ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เป็นที่ตั้งจังหวัดนครพนมในปัจจุบันให้ปกครอง แล้วเซียงศรีก็เดินทางไปขออาสาปราบช้างป่าโขลงนั้น ด้วยความเก่งในทางวิชาอาคมและความรู้ในการเลี้ยงช้างมาก่อน ทำให้เชียงศรีสามารถเอาชนะช้างป่าโขลงนั้นได้ และยังนำช้างป่าโขลงนั้นกลับเข้าไปในป่าโดยไม่ออกมารบกวนชาวเมืองเวียงจันทน์อีก เจ้านครหลวงเวียงจันทน์จึงยกเมืองโคตรบูรณ์ให้เซียงศรีปกครองพร้อมทั้งยกบุตรสาวคือนางเขียวข่อมให้เป็นพระมเหสี ด้วยความก่งกล้าสามารถของเซียงศรี บวกกับการเป็นผู้มีคุณธรรม อยู่ในศีลในธรรม ถึงแม้เซียงศรีซึ่งตอนนี้เป็นเจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์ที่ตัวรูปไม่งาม ตัวดำ ขี้เหล่ แต่ก็ทำให้ประชาชนในการปกครองของรักใคร่ เคารพศรัธา อีกทั้งนางเขียวข่อมผู้เป็นพระมเหสี ที่ไม่เคยพิสวาสในความขี้ริ้วขี้เหล่ของพระยาศรีโคตรบูรณ์ ก็เกิดหลงรักขึ้นมาด้วยความดีที่พระยาศรีโคตรบูรณ์เป็นคนดี
ด้วยความเคารพศรัทธาของพระสกนิกรใต้การปกครองของพระยาศรีโคตรบูรณ์ ก็กลายเป็นความกังวลแก่ราชนิกูลของเจ้านครเวียงจันทร์ ที่เกรงว่าเจ้านครเวียงจันทน์จะยกนครหลวงเวียงจันทร์ให้พระยาศรีโคตรบูรณ์ปกครอง จึงพยายามที่จะลอบเอาชีวิตพระยาศรีโคตรบูรณ์ตลอดมา พระยาศรีโคตรบูรณ์ก็เอาตัวรอดทุกครั้งที่มีการลอบสังหาร เพราะพระยาศรีโคตรบูรณ์นอกจากจะมีวิชาอาคมแล้ว ยังหนังเหนียวและมีตะบองไม้พญางิ้วดำที่ได้จากต้นไม้ที่ใช้เป็นด้ามคดข้าวเมื่อครั้งยังเป็นเด็กเลี้ยงช้าง เมื่อคราวที่ยังอยู่เมืองพระตะบองเป็นอาวุธประจำตัว ด้วยที่ตั้งเมืองศรีโคตรบูรณ์เป็นทำเลที่ไม่ปลอดภัยเกรงว่าอันตรายจะเกิดแก่ลูกเมียและประชาชน จึงทำการย้ายเมืองด้วยการเสี่ยงทายด้วยการโยนตะบองขึ้นบนท้องฟ้า ปรากฏว่าตะบองได้ตกลงที่ฝากตรงข้ามเมืองศรีโคตรบูรณ์เดิม ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเซบั้งไฟ พระยาศรีโคตรบูรณ์จึงย้ายเมืองมาอยู่ฝั่งแม่น้ำโขงอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองท่าแขกในปัจจุบัน
การย้ายเมืองจากฝั่งขวา(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งเมืองนครพนม) มาอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงฝั่งขวาแม่น้ำเซบั้งไฟ ซึ่งเป็นทำเลที่ทำให้ราชนิกูลมีความลำบากใจในการลอบสังหารเอาชีวิต ฝ่ายราชนิกูลก็ได้ออกอุบายให้นางเขียวข่อมเป็นผู้ลวงถามความลับในการฆ่าพระยาศรีโคตรบูรณ์ ด้วยความรักและไว้ใจผู้เป็นพระมเหสีจึงลืมคำสั่งของพระอาจารย์ที่ห้ามไม่ให้บอกความลับกับใคร จึงได้บอกความลับกับนางเขียวข่อมว่ามีวิธีเดียวที่จะสังหารพระยาศรีโคตรบูรณ์ได้ คือการสวนทาวร เมื่อทางราชนิกูลรู้ความจริงก็จึงออกอุบายให้เชิญพระยาศรีโคตรบูรณ์มาเยี่ยมเจ้านครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นพ่อตา พระยาศรีโคตรบูรณ์ก็รับปากด้วยความซื่อ ก่อนที่จึงวันมาเยี่ยมพ่อตา ทางราชนิกูลได้ตรียมข้าวปลาอาหารไว้ต้อนรับ พร้อมทั้งสร้างกลไกอาวุธที่เป็นหอกแหลมที่พุ่งจากสว้มหลุมขึ้นมาแทงทวารของผู้ที่เข้าไปปลดทุกข์หนัก
พอถึงวันนัดหมายในการเดินทางไปเยี่ยมพ่อตา พระยาศรีโคตรบูรณ์ก็ได้นำพระมเหสีและไพร่พลเดินทางมาเยี่ยมเจ้าเมืองนครหลวงเวียงจันทร์ เมื่อเข้าเฝ้าเพื่อเยี่ยมพ่อตาแล้ว ตอนเย็นจึงเดินทางไปบ้านราชนิกูลเพื่อร่วมรับประทานอาหารที่ทางราชนิกูลจัดต้อนรับ ซึ่งเมนูอาหารก็มีห้อยหอยปัง(หอยเชอรี่) ที่ราชกูลได้ให้พ่อครัวใส่สรอดไว้ เพราะรู้ว่าพระยาศรีโคตรบูรณ์ชอบทานอาหารเมนูนี้มาก
พอพระยาศรีโคตรบูรณ์ทานก้อยหอยปังเข้าไป ไม่นานก็เกิดอาการปวดท้องถ่ายอย่างแรง จึงขอตัวเขาห้องน้ำเพื่อปลดทุกข์ พอเข้าไปนั่งคร่อมหลุมส้วมเพื่อถ่าย หอกแหลมก็พุ่งขึ้นมาเสียบเข้าทวารของพระยาศรีโคตรบูรณ์ทะลุขึ้นไปถึงต้นคอ ร้องครวญครางออกมาด้วยความเจ็บปวด ทำให้นางเขียวข่อมวิ่งเข้าไปดูและเห็นพระสวามีได้รับบาดเจ็บจากการลอบทำร้ายอย่างนั้นจึงเข้าไปประคองกอดด้วยความเสียใจ ส่วนพระยาศรีโคตรบูรณ์ก็เข้าใจว่านางเขียวข่อม เป็นผู้ร่วมวางแผนทำร้ายตนจึงกล่าวคำสาปเมืองเวียงจันทน์ว่า
"สาธุเด้อให้มันเป็นจั่งซีไปตลอดอวศาล พญาใด๋มาครองอย่าให้มันเจริญได้ ให้มันเลวละมันฆ่ากันตายเท่าซั่ว ให้มันฮ่างอยู่เรื่อยเจริญขึ้นซั่วคราว ความเจริญมีท่อซ่างปัดหู มีท่องูแลบลิ้นคราวน้อยให้ต่ำลง......
เวียงจันทน์ล้านช้าง อย่าให้ฮุ่งเฮืองศรี คนบ่มีศีลธรรม อยู่คองเมืองบ้าน ผู้ใดมาครองสร้าง ปกครองตุ้มไพร่ ขอให้ฮุ่ง เพียงช้างพับหู ฮุ่งเพียงงูแลบลิ้น ศรีโคตรสาปแช่งเวียง....”
ตำนานพระยาศรีโคตรบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะถูกลดความสำคัญทางประวัติศาสตร์ลงไปจากอิทธิพลของประเทศผู้ล่าอาณานิคม เพื่อให้คนรุ่นหลังให้ความสำคัญประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ แต่ตำนานพระยาศรีโคตรบูรณ์ก็ยังคมเป็นตำนานอมตะที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของแผ่นดินเมร ลาว และไทยเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าเมืองศรีโคตรบูรณ์ปัจจุบันจะถูกเปลี่ยนเป็นเมืองทางแขก แขวงคำม่วน หรือเมืองศรีโคตรบูรณ์เดิม หลังจากย้ายเมืองแล้วก็ถูกเปลี่ยนเป็นเมือง มรุกขนคร และเป็นจังหวัดนครพนมในกาลต่อมาก็ตาม แต่ก็ยังเป็นเป็นนานที่เล่าขานถึงความสัมพันธ์ของเขมร ลาว และไทยได้เป็นอย่างดี
จากการศึกษา DNAของชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ของ รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์เชิงมานุษยทยา มหาวิทยาลัยขอแก่น ได้พบว่าประชาชนในภาคอีสานของไทย มี DNA ที่มีส่วนผสมของ DNA ของประชากรในประเทศกัมพูชา และประเทศลาว ซึ่งนั่นก็สามารถที่จะยืนยันได้ว่า ทั้งเขมร ลาว และไทย มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกันมาก่อนอย่างเหนียวแน่น ซึ่งถ้าจะเอาศิลปะ วัฒนธรรม และความเชื่อของทั้งในกัมพูชา ลาวและไทยมาวิเคราะห์ ก็จะพบว่า มีศิลปะวัฒนธรรมและความเชื่อที่มีความสอดคล้องกันมาก ถึงแม้ว่าจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็สามารถประมาณได้ว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมได้อย่างมีนัยสำคัญ