EDU Research & Innovation
วว.ร่วมสวทช.พัฒนาวิทย์เทคโนโลยีไทย ยั่งยืนตอบโจทย์รพัฒนาในศตวรรษที่21

กรุงเทพฯ-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงขยายกรอบความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพอาทิ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคม สอดคล้องตามนโยบาย วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ตรงความต้องการ โดย “เน้นประเด็นสำคัญประเทศ” ของกระทรวง อว. มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี โดยมี ดร.พงศธร ประภักรางกูลรองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการนี้ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. คณะผู้บริหาร บุคลากรทั้งสองหน่วยงานและสื่อมวลชนร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี โดยภายในงานมีการจัดแสดงเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมรวมทั้งการเยี่ยมชมภารกิจศูนย์ความเชี่ยวชาญของ วว. ได้แก่ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (BRC)ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ (InnoFood)ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (InnoHerb) และศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (InnoEN)เพื่อบูรณาการร่วมดำเนินงานต่อไปในวันที่ 4 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญผู้ว่าการ วว.กล่าวว่า จากความร่วมมือดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานของ วว. ในฐานะรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีพันธกิจสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมความเข้มแข็งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
โดยปัจจุบันได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ.2568 และมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมีการแก้ไขหลักการในสาระสำคัญเพื่อปรับปรุงและขยายภารกิจองค์กร ให้สามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์และสามารถร่วมทุนได้มากขึ้นด้วย โดย วว. มุ่งดำเนินงานผ่านการขับเคลื่อนด้วย “4 กลยุทธ์ : S – I – E - N”เพื่อนำ วทน. ไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตยั่งยืน ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1S : Science Technology and Innovation เร่งสร้างผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพี่อตอบโจทย์ประเทศ กลยุทธที่ 2I : Infrastructure การพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลยุทธ์ที่ 3E : Ecosystem เสริมสร้างผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม ด้วยวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และกลยุทธ์ที่ 4N : Network สร้างเครือข่ายตอบโจทย์เชิงพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้การเสริมสร้างผลิตภาพการผลิตดีขึ้น สร้างนวัตกรรมตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย ท่านศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม value added … value creation ทำให้ประเทศหลุดจากกับดักทางรายได้ คุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนมีความเท่าเทียม ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง
“...การพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศความร่วมมือของ วว. และ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยชั้นนำระดับประเทศจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเป็นการผนึกกำลังเพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม สามารถนำพาประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตอบโจทย์สำคัญสู่การพัฒนาประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาคน การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ การสร้างและพัฒนานวัตกรรมได้อย่างเต็มภาคภูมิ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า สวทช. มีเป้าหมายหลักในการสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ของประเทศไทย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ สวทช. มุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงการทำงานกับพันธมิตรจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขยายผลการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
สวทช. และ วว. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระยะเวลา 5 ปี (1 กรกฎาคม 2562 ถึง 30 มิถุนายน 2567) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ชีวภัณฑ์ราเมตาไรเซียม กำจัดไรแดง และสารชีวภัณฑ์ควบคุมวัชพืช ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. เพื่อทดสอบพิษวิทยาและพัฒนาชีวภัณฑ์ตามเกณฑ์กรมวิชาการเกษตร
และเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งสองหน่วยงานได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือต่ออีก 5 ปี (ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2568 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2572) โดยแนวทางความร่วมมือในระยะต่อไปจะดำเนินงานวิจัยร่วมกันในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ทางการเกษตรสู่เกษตรกรและชุมชน การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตพืชผักและไม้ผลปลอดภัยด้วยชีวภัณฑ์ โดยอาศัยคู่มือแบบมาตรฐานจัดการศัตรูพืช (standard operating procedure: SOP) ของทุเรียน ถั่วฝักยาว เมล่อนและกาแฟ) และระบบ DAPbotเพื่อเข้าถึงชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพใน Line OA ซึ่งพัฒนาโดยคณะนักวิจัย ไบโอเทค สวทช. รวมทั้งการทดสอบพิษวิทยาสำหรับพัฒนาชีวภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อรองรับการขึ้นทะเบียนต่อกรมวิชาการเกษตร และผลักดันการเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมของประเทศให้มีความปลอดภัยและยั่งยืน
“...สวทช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับภาคการเกษตรของไทย สวทช. มุ่งมั่นที่จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ทุกประการ และพร้อมที่จะขยายผลต่อยอดความร่วมมือด้านการวิจัยเทคโนโลยีในด้านอื่นๆ ต่อไป...” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
อนึ่ง วว. และ สวทช. เป็นหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมบูรณาการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเวชสำอางและสมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ โครงการพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างการค้า/การตลาด/การวิจัย/เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการธัชวิทย์วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยเพื่อการผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมรรถนะสูงโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาความร่วมมืองานวิจัยระบบราง โครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมโครงการสร้างความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยเพื่อดำเนินการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเชิงระบบโครงการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้แก่ประเทศที่สามเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียนโครงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม วว. ได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”