EDU Research & Innovation
‘ใครปรับตัวก่อน...รอด’นักวิจัยมจธ.เตือน อุตฯไทยเตรียมรับมือพรบ.ลดโลกร้อน

กรุงเทพฯ-นักวิจัย มจธ. ระบุ อุตสาหกรรมไทยเตรียมรับผลกระทบ หลัง พ.ร.บ. Climate Change เริ่มบังคับใช้ จากงานวิจัยพบมีเพียงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลุ่มพลังงาน และสถาบันการเงิน ที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน Climate Change ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม ยังไม่เห็นความสำคัญ เพราะมองว่าเป็นเรื่องการลงทุนและภาระที่เพิ่มขึ้น พร้อมย้ำ ธุรกิจใดไม่เร่งปรับตัวในการจัดการความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของธุรกิจในอนาคต
ผศ.ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ และอาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองได้เข้าร่วมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยมีเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ความท้าทายคือ อุตสาหกรรมไทยจะสามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas-GHG) ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับข้อตกลงนี้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ.Climate Change กำลังมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมไทย
โครงการวิจัย “เราพร้อมหรือยังต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: วุฒิภาวะด้านการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในอุตสาหกรรมไทย” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาตัวแบบมาตรวัดทางสถิติที่ใช้วัดระดับความพร้อมในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจาก Climate Change นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำเสนอนโยบายเชิงวิชาการที่สามารถนำไปใช้ได้จริง การวิจัยนี้เก็บข้อมูลจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปีพ.ศ. 2565 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มูลนิธิฯให้ทุนวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) จากเดิมที่มีเพียงทุนวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
“เราเป็นโครงการแรกที่ได้รับทุนวิจัยอาซาฮี เพื่องานวิจัยทางด้านสังคมเกี่ยวกับสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเป็นการศึกษาในบริบทของการผสนผสานระหว่างการบริหารธุรกิจกับวิทยาศาสตร์ งานวิจัยนี้ใช้เวลา 2 ปี (พ.ศ.2565-2567) เก็บข้อมูลจาก 200 บริษัท ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยแม้จะรับรู้เรื่อง Climate Change แต่ยังให้ความสนใจน้อยมาก แม้ไทยจะตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality ปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 แต่ภาคเอกชนกลับยังไม่ได้ให้ความร่วมมือหรือให้ความสำคัญมากนัก เพราะเมื่อ 2 ปีก่อน หลายบริษัทมองว่า Climate Change ไม่ได้กระทบธุรกิจของพวกเขาโดยตรง
แต่ปัจจุบันภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญกับ Climate Change มากขึ้น เนื่องจากประเด็นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องของงบการเงินของบริษัทจาก พ.ร.บ.ลดโลกร้อน หรือ พ.ร.บ.Climate Change ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ทำให้อุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มปรับตัวเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายในองค์การจากภัยพิบัติต่างๆ อาทิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฝุ่น PM2.5 ฯลฯ แต่พบว่ามีเพียงอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรง เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงาน (oil and gas industry) และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีความพร้อมในการจัดการความเสี่ยง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ อีกทั้งยังเป็นองค์กรขนาดใหญ่มีทรัพยากรพร้อมลงทุน และมีนวัตกรรม ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาคการเกษตรและบริการ ยังคงมีความพร้อมต่ำ เพราะมองว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและเป็นภาระจากงานประจำ แม้อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่จะตระหนักถึงความสำคัญของ Climate Change แต่ยังขาดความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ” ผศ.ดร.ปฏิภาณ กล่าว
รองคณบดีฯ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยง Climate Change มากขึ้นอย่างมีนัยยะ คือ สถาบันการเงิน ที่มีการปรับตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงนี้นำสู่การต่อยอดงานวิจัย โดยนำ Machine Learning ที่พัฒนาขึ้นมาประยุกต์ใช้ในการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ (Climate Risk Disclosure) ในรายงานประจำปีของสถาบันการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมสีเขียว การนำเครื่องมือทางคณิตศาสตร์มาช่วยตรวจสอบการ Greenwashing หรือการอ้างว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการดำเนินการจริง จะช่วยจำแนกอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตาม มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทย (Thailand Taxonomy) ขณะนี้โครงการกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
“ต้นแบบมาตรวัดที่ใช้วิเคราะห์การจัดการความเสี่ยง Climate Change ในอุตสาหกรรมไทย เป็นโมเดลทางสถิติที่ใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์มาช่วยวัดระดับความพร้อม โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Climate Adaptation (เรื่องการปรับตัว) และ Climate Mitigation (เรื่องการบรรเทาผลกระทบ หรือการลดสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เพื่อจัดระดับกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบของคลัสเตอร์ที่มีความพร้อมต่ำ กลาง หรือ สูง ซึ่งงานวิจัยนี้เราจะเห็นช่องว่างระหว่างเป้าหมายที่ไทยตั้งไว้เรื่อง Carbon Neutrality และ Net Zero กับความเป็นจริงในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของความพร้อมและการเปิดเผยข้อมูล ถ้าวันนี้อุตสาหกรรมยังไม่พร้อม ก็อาจทำให้เป้าหมายที่ไทยวางไว้ไม่เกิดขึ้นจริง แล้วภาครัฐจะต้องมีมาตรการหรือนโยบายเพิ่มเติมเพื่อผลักดันเรื่องนี้หรือไม่” ผศ.ดร.ปฏิภาณ กล่าว
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยมีความตระหนักถึง Climate Change มากขึ้น แต่ยังขาดแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน ภาครัฐจะต้องมีมาตรการทั้งบังคับและจูงใจควบคู่กัน พร้อมกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจนเพียงจุดเดียว เพื่อลดความซ้ำซ้อนและอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ควรบรรจุ Climate Change ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อปลูกฝั่งและสร้างความตระหนักรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ‘เพราะสิ่งที่หลายประเทศพยายามแก้ปัญหาแต่ยังไม่มีประเทศใดรับมือได้อย่างสมบูรณ์ บางประเทศเลือกย้ายฐานการผลิตแทนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง แม้แต่ประเทศฟินแลนด์ หรือนอร์เวย์’ ฉะนั้น นอกจากผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัวมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลต้องมีทิศทางที่ชัดเจนและดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะหากไม่เร่งลงมือทำในวันนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะยิ่งล่าช้าออกไป และในอนาคตอุตสาหกรรมที่เริ่มปรับตัวกับการจัดการความเสี่ยง Climate Change ก่อน ย่อมมีความได้เปรียบมากกว่า นี่คือข้อเสนอแนะนโยบายเชิงวิชาการจากงานวิจัย
ผศ.ดร.ปฏิภาณ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ ทำให้เห็นว่าการบริหารความเสี่ยงขององค์กรเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องคำนึงและมองถึงปัญหาระดับโลกด้วย ทุนวิจัยจากอาซาฮีถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้การจัดการความเสี่ยง Climate Change ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง และดึงดูดความสนใจจากแหล่งทุนที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลให้นำไปต่อยอดการวิจัยต่อกับสถาบันการเงิน
“และสิ่งที่ถือเป็นความท้าทายจากการศึกษาเรื่อง climate change ลึกๆ ยอมรับว่าการจัดการเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องยาก และอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เรื่องของก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero หากไม่ได้รับการความร่วมมือจากทั่วโลก เพราะหากแก้ปัญหาด้วยการย้ายไปผลิตในประเทศอื่นหรือทดแทนด้วยการรับซื้อคาร์บอนเครดิต ก็ไม่ได้ทำให้การปล่อยก๊าซลดลง จึงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศทั่วโลกซึ่งถือเป็นเรื่องยาก เพราะก๊าซคาร์บอนฯ ที่ปล่อยออกมาจะไปส่งผลกระทบในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นตอนนี้มาจากยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบมากกว่าคือประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตมากกว่าหากเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ทำให้เกิดคำถามจากหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียว่าทำไมต้องให้ประเทศเขาทำ Net Zero แต่อย่างไรก็ตาม การจะเข้าสู่ net zero ได้นั้น คงไม่ใช่ประเทศใด ประเทศหนึ่งทำ แต่ะควรเกิดจากความร่วมมือของทุกประเทศ แต่ประเทศที่พร้อมกว่าอาจรุดหน้าไปก่อนได้และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดยปัจจัยสู่ความสำเร็จแรกที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Net-Zero ได้นั้นคือผู้นำที่ต้องมีความชัดเจนเพื่อให้องค์กรทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง มิเช่นนั้นเป้าหมายคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ที่ตั้งไว้ จะไม่มีทางเป็นจริง”