Digitel Tech & AI

PwCเผยซีอีโอไทยเชื่อมั่นต่อแนวโน้มศก. 'ไทย-โลก'ลดลงเน้นทำธุรกิจระมัดระวัง



กรุงเทพฯ,6มีนาคม2568 –PwC ประเทศไทย เผยรายงานผลสำรวจล่าสุดพบซีอีโอไทยแสดงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโลกลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 67 ขณะที่มองการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังในปี 2568 ส่งผลให้แผนการเพิ่มจำนวนพนักงานลดลง และมากกว่าครึ่งยังไม่มีแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่การลงทุนใน GenAI และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ซีอีโอไทยคาดหวังว่าจะช่วยพลิกโฉมรูปแบบธุรกิจใหม่ในอนาคต 

‘รายงานผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 28 ฉบับประเทศไทย: ปฏิรูปรูปแบบธุรกิจ เพื่อพิชิตโลกอนาคต’ของ PwC ประเทศไทย ยังได้แนะนำให้ผู้บริหารระดับสูงต้องมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มคุณค่าใหม่จากการดำเนินงาน 

นาย พิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ซีอีโอไทยมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโลกลดลงเล็กน้อยโดย 44% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2568 (ลดลง 1% จากปีก่อน) และ 51% กล่าวว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะดีขึ้นในปีนี้  (ลดลง 1% จากปีก่อน) ขณะที่ 27% แสดงความเชื่อมั่นในระดับสูงหรือสูงมากต่อรายได้ของบริษัทในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 44% สำหรับแนวโน้มในช่วงสามปีข้างหน้า 
 
นอกจากนี้ ซีอีโอไทย 61% กล่าวว่าธุรกิจของตนจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในทศวรรษหน้า หากยังดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเดิม ๆ ซึ่งลดลงจากการสำรวจเมื่อปีก่อนที่ 67% 
 
“ซีอีโอไทยมีแนวโน้มที่จะดำเนินกลยุทธ์์ด้วยความระมัดระวังมากขึ้นในปีนี้ แม้ว่าจะมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้และความสามารถในการดำเนินธุรกิจของตนเองเนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและโลกด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ยังคงกดดัน sentiment โดยรวมของการลงทุนและการขยายกิจการใหม่ ๆอย่างไรก็ดีมีซีอีโอไทยจำนวนไม่น้่อยที่กำลังปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองเพื่อความอยู่รอด โดยในปีที่ผ่านมาเราเห็นหลายธุรกิจตื่นตัวในเรื่องของ AI การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งแสวงหาโอกาสในการสร้างคุณค่าด้วยวิธีการใหม่ ๆ มากขึ้นและโฟกัสไปที่การสร้างรายได้จากธุรกิจหลัก” นาย พิสิฐ กล่าว 

ทั้งนี้ รายงานฉบับประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘รายงานผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 28 ของ PwC’ ได้รวบรวมความคิดเห็นของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้น 4,701 ราย ซึ่งรวมถึงซีอีโอจากประเทศไทย จำนวน 41 ราย ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 8 พฤศจิกายน 2567 
 
สำหรับปัจจัยความเสี่ยงที่สร้างความกังวลให้กับผู้นำธุรกิจไทยนั้นพบว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและความเสี่ยงทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามอันดับแรกที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ (24% เท่ากัน) ตามมาด้วยเงินเฟ้อและการหยุดชะงักของเทคโนโลยี (20% เท่ากัน) และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (15% เท่ากัน) 
 
นอกจากนี้ ซีอีโอไทยยังคงมีความระมัดระวังต่อการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า เห็นได้จากแผนการสรรหาบุคลากรที่ลดลง โดยมีเพียง 29% ที่วางแผนจะเพิ่มจำนวนพนักงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ลดลงจากปีก่อนที่ 33% และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 42% และ 46% ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น ซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง (56%) ยังไม่มีแผนที่จะจัดสรรเงินทุนให้กับการดำเนินงานในต่างประเทศในอีก 12 เดือนข้างหน้า และ 41% ไม่มีแผนที่จะควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในช่วงสามปีข้างหน้า 
 
“ในขณะที่ปี 2568 จะเป็นปีที่ซีอีโอบริหารงานด้วยความระมัดระวัง สิ่งสำคัญที่พวกเขาจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้ คือ จะต้องกล้าที่จะปฏิรูปรูปแบบธุรกิจเพื่ือเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้าง ส่งมอบ และสรรหาคุณค่าใหม่” นาย พิสิฐ กล่าว 
 
GenAI และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
 
ในช่วงปีที่ผ่านมาซีอีโอไทยตื่นตัวต่อกระแสการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (generative AI: GenAI) ที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมากโดย 30% รายงานว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นขณะที่ 37% พบว่ามีความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้นและ 20% ระบุว่าจำนวนพนักงานของธุรกิจเพิ่มขึ้นจากที่ซีอีโอ 33% คาดการณ์ว่าจำนวนพนักงานจะลดลงในปี 2567 แต่อย่างไรก็ดี ยังมีซีอีโอไทย 27% ที่รายงานว่ามีความไว้วางใจใน AI น้อยหรือไม่ไว้วางใจเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการประยุกต์ใช้ AI ที่ยังคงมีอยู่

นอกจากนี้ซีอีโอไทยยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องหลังผู้นำธุรกิจเริ่มมองเห็นโอกาสทางการตลาดและความต้องการสินค้าและบริการอย่างยั่งยืนที่สูงขึ้นของผู้บริโภค โดย76% กล่าวว่าพวกเขาได้ลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีที่ผ่านมาขณะที่ 37%กล่าวว่าสามารถยอมรับอัตราผลตอบแทนสำหรับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ยอมรับได้สำหรับการลงทุนอื่น ๆและถึงแม้ว่าจะมีซีอีโอไทยเพียง 22% ที่กล่าวว่าองค์กรของตนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผนวกโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ

“ผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้ามาของเทคโนโลยีเกิดใหม่และเมกะเทรนด์อื่นๆ กำลังเป็นตัวเร่งให้ผู้นำธุรกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างคุณค่า และตอบสนองความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า กำลังแรงงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ นอกจากนี้ จะต้องนำแนวปฏิบัติการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบมาผนวกกับกลยุทธ์การทำธุรกิจในทุกมิติ ซึ่งถึงแม้ว่าในบางกรณีอาจจะไม่ได้สร้างผลตอบแทนในทันที แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว” นาย พิสิฐ กล่าว