Health & Beauty

'ออร์กานอน'จับมือภาคีเครือข่ายผลักดัน นวัตกรรมสุขภาพสตรีเดินหน้าอาเซียน



กรุงเทพฯ-บริษัทออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัดร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund - UNFPA)จัดการประชุมโต๊ะกลมภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมเพื่อสุขภาพสตรี" เมื่อวันที่6 มีนาคม2568ณห้องสมุดเนียลสันเฮส์(Neilson Hays) กรุงเทพฯเพื่อเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของสุขภาพสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

การประชุมนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล (International Women’s Day - IWD) เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกภาคส่วนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่3การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีและเป้าหมายที่5ความเท่าเทียมทางเพศพร้อมทั้งส่งเสริมโครงการครอบครัวคุณภาพของเอเปค (APEC Smart Families)

บทสนทนาจากการประชุมมุ่งตอบโจทย์ประเด็นความต้องการด้านสุขภาพสตรีที่เร่งด่วนที่พบเห็นทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนในวงกว้างอาทิอัตราการผ่าคลอดที่น่ากังวลของประเทศไทย (34.8% ของการคลอดทั้งหมด) อัตราการเสียชีวิตของมารดาที่สูงในประเทศกัมพูชา (218 รายต่อการเกิดมีชีพ100,000 ราย) และอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่สูงในประเทศลาว (82 รายต่อเด็กหญิงอายุ15-19 ปี1,000 คน) เป็นต้นโดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการลงทุนในสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

ข้อมูลเชิงประจักษ์จากสถาบันชั้นนำระดับโลก อาทิ World Economic Forum, McKinsey Health InstituteและWorld Bank ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) ของโลกได้ถึงหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงได้ถึงร้อยละ20 หากผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้นบริษัทอินซูลาร์ไลฟ์ (Insular Life Assurance Company, Ltd. - inLife) ในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งได้ขยายสวัสดิการสุขภาพให้ครอบคลุมการตั้งครรภ์และคลอดบุตรอย่างครบวงจรส่งผลให้มีพนักงานหญิงสูงถึง64% และอัตราการลาออกลดลงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมจากการลงทุนในสุขภาพสตรีได้อย่างชัดเจน

นายคุง คาเรล เคราท์บ๊อช (Koen C. Kruijtbosch) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัดเปิดการเสวนาโดยเน้นย้ำถึงผลกระทบในวงกว้างของสุขภาพสตรีต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมชี้ให้เห็นว่าความท้าทายด้านสุขภาพสตรีที่เร่งด่วนของประเทศไทย อาทิ อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่สูงขึ้น และอัตราการผ่าคลอดที่สูง ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งต่อสุขภาพสตรี ตลาดแรงงานระบบสาธารณสุข และการพัฒนาประเทศในระยะยาว“ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพส่วนบุคคล แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และอนาคตของประเทศ หากเราต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เราต้องนำนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ มาปรับใช้ ทั้งด้านการแพทย์ เทคโนโลยี นโยบายการให้บริการ และการศึกษาเพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและสตรี สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการที่จำเป็นในการตัดสินใจด้านสุขภาพได้อย่างรอบคอบ

ดร.ณหทัยทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า“สุขภาพสตรีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจความเสมอภาคทางสังคมและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันการรับรองการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ไม่ได้เป็นแค่เรื่องสุขภาพส่วนบุคคลแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งส่งเสริมตลาดแรงงานแบบยืดหยุ่นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”ดร. ณหทัยยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคโดยเฉพาะโครงการครอบครัวคุณภาพของเอเปคซึ่งนำเสนอนวัตกรรมในการจัดการกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์พร้อมทั้งส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว"การลงทุนในสุขภาพสตรีคือการลงทุนในอนาคตของครอบครัวชุมชนและประเทศของเราอย่างแท้จริง" ดร. ณหทัยกล่าว

การประชุมโต๊ะกลม ซึ่งดำเนินการอภิปรายโดย คุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA)มุ่งเน้นไปที่แนวทางแก้ไขและการดำเนินงานที่นำไปปฏิบัติได้จริง โดยในระหว่างการเสวนาโต๊ะกลมผศ.ดร.ทวิดากมลเวชชรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวถึงการขยายเวลาให้บริการของศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครรวมถึงคลินิกวางแผนครอบครัวโดยในวันจันทร์-ศุกร์ขยายเวลาให้บริการจนถึง 20.00 น. และเพิ่มเวลาให้บริการในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้มากขึ้นลดอุปสรรคในการเข้ารับบริการทั้งนี้การขยายเวลาให้บริการดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติในการลดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมผ่านการเพิ่มความตระหนักรู้และขยายการเข้าถึงทางเลือกในการวางแผนครอบครัว

จากการเสวนา สามารถระบุข้อสรุปสำคัญได้ 4 ประการ หนึ่ง ผู้ร่วมประชุมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความครอบคลุมของการวางแผนครอบครัว การเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษา และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ สองการอภิปรายชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้ดิจิทัลโซลูชัน (digital solutions) เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ แอปพลิเคชันมือถือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI)  และการแพทย์ทางไกล (telemedicine) เพื่อการรายงาน การร้องทุกข์ การให้คำปรึกษา รวมถึงการขยายการเข้าถึงของบริการ สาม นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวในสถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิวันลาสำหรับมารดาและบิดา สิทธิวันลาสำหรับการดูแลสมาชิกครอบครัว และการสนับสนุนด้านการดูแลบุตร  เป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับความท้าทายด้านประชากรของไทย ประการสุดท้าย ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงให้เห็นถึงความต้องการและความเต็มใจในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วน เพื่อปิดช่องโหว่ ลดความกระจัดกระจายของการดำเนินงาน และผลักดันความร่วมมือที่เป็นเอกภาพในการเสริมสร้างระบบสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้หญิงในะระยะยาว 

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการและกรรมการบริหาร มูลนิธิคีนันแห่งเอเชียกล่าวปิดงานโดยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่องภายหลังการประชุม“วันนี้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบใหม่และได้พบเพื่อนใหม่ซึ่งทำให้เรารู้ว่ายังมีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกมากมายงานวันนี้มิใช่จุดสิ้นสุดแต่เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นต่อไป”

ข้อมูลที่ได้จากการประชุมโต๊ะกลมนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่จะจัดทำขึ้นภายใต้โครงการ "Her Promise Grant" ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก บริษัท ออร์กานอนและดำเนินการโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย อันจะเป็นแนวทางสำคัญในการขยายความร่วมมือและเสริมสร้างการลงทุนในนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป