In Thailand

ร้อยเอ็ดถกความเห็นอนุญาตปลูกกัญชา



ร้อยเอ็ด-จัดประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการอนุญาตผลิต (ปลูก) กัญชาและกัญชง

 เวลา 09.30 น. นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการอนุญาตผลิต (ปลูก) กัญชาและกัญชง ณ ห้องประชุมแก้วมุกดา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน และถูกกฎหมายนอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยสนับสนุนการปลูกกัญชาให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อให้ได้ช่อดอกที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับนำไปใช้ในทางการแพทย์  โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามารถนำไปปรุงยาเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย ส่วนประชาชน วิสาหกิจชุมชน สามารถนำส่วนของพืชกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดไปจำหน่ายเพื่อก่อให้เกิดรายได้ หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้จัดทำโครงการ "Roi Et Cannabis Mode!" ขึ้น เพื่อตอบสนองและสนับสนุนความต้องการของทางภาครัฐและภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายสำคัญยิ่งคือการยกระดับบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้โครงการนี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในฐานะผู้ขออนุญาตและผู้ดำเนินกิจการต้องทำความตกลงร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน เพื่อยื่นขอรับอนุญาตปลูกกัญชาต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการปลูกกัญชาโดยภาคประชาชน ให้มีคุณภาพและปลอดภัย นำผลผลิตไปใช้ในการผลิตตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ เพื่อศึกษาวิธีการและผลิตน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) เพื่อนำส่วนของพืชกัญชาที่ไม่ใช่ยาสพติตให้โทษในประเภท 5 ไปใช้ประโยชน์ เพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย คือ ระดับผลผลิต ในส่วนเชิงปริมาณวิสาหกิจชุมชนได้รับอนุญาตปลูกกัญชา อย่างน้อย 25 กลุ่มๆละอย่างน้อย 50 ต้นขึ้นไป แต่ไม่เกิน 150 ต้น รวมประมาณ 1,250 ต้นขึ้นไป สามารถผลิตยากัญชาทางการแพทย์ (น้ำมันเดชา) อย่างน้อย 12,000 ขวด และในส่วนเชิงคุณภาพผู้ป่วยอย่างน้อย 1,200 ราย จะได้รับยากัญชาทางการแพทย์ (น้ำมันเดชา) ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ อย่างน้อย 1 ล้านบาท ในส่วนระดับผลลัพธ์ ผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนและระดับจังหวัด เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนร้อยเอ็ด

ทั้งนี้ การนำกัญชา กัญชง ไปใช้ประโยชน์หลังปลดล็อกตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 กำหนดให้เมล็ดกัญชา ช่อดอกกัญชาและกัญชง ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และในส่วนอื่นๆที่ยกเลิก ได้แก่ ใบที่ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย กิ่ง ก้าน ราก เปลือก ลำต้น เส้นใย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % กากจากการสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % เมล็ดกัญชง น้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ฉะนั้นการปลูกกัญชาและกัญชงยังคงต้องมีการดำเนินการขออนุญาตปลูกให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีแผนส่งเสริมการใช้กัญชา กัญชง โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการนำกัญชาและกัญชงไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางการแพทย์และทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวทางการใช้ประโยชน์จากกัญชา ตามโครงการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน และคาดการว่าผลผลิตในการปลูกกัญชาตามโครงการของแพทย์แผนไทย คือ ได้ใบและช่อดอก น้ำหนักแห้งประมาณ 30 กิโลกรัมต่อรอบ โดยจะปลูกปีละ 2 รอบ เท่ากับประมาณ 60 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งต้องส่งให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และผลผลิตอื่นๆ ของกัญชาจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านทางการแพทย์และพัฒนาเศรษฐกิจ ต่อไป