Authority & Harm

ตำรวจไซเบอร์รวบชาวจีนวัยเกษียณเปิด ขายสินค้าออนไลน์ไร้คุณภาพยึดกว่า3ล.



ตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายในการเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และ “นโยบายรัฐบาลในการจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติยุค Digital Disruption” แก่ข้าราชการตำรวจระดับผู้บริหารทั่วประเทศ ในโครงการสัมมนาผู้บริหาร ระดับผู้บัญชาการหรือเทียบเท่า และผู้บังคับการหรือเทียบเท่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช.ในฐานะ ผอ.ศปอส./ผอ.ศตคม.ตร. ได้ขับเคลื่อนนโยบายผ่าน พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบควบคุมสั่งการ บช.สอท. และ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด จนนำมาสู่ปฏิบัติการดังกล่าว

วันอังคารที่ 18 มี.ค.68 เวลา 14.00 น. ณ บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ บช.สอท. (เมืองทองธานี)นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกรรังมาตย์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต. ศรายุทธ จุณณวัตต์ ผบก.สอท.2, พล.ต.ต. ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึงผบก.สอท.3, พล.ต.ต.กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ ผบก.สอท.4, พล.ต.ต.ศุภกร ผิวอ่อน ผบก.สอท.5 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว ตำรวจไซเบอร์รวบชาวจีนวัยเกษียณเปิดขายสินค้าออนไลน์ไร้คุณภาพผ่านแพลตฟอร์มดัง ยึดของกลางมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สอท.3 ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ร้านค้าออนไลน์ ที่ใช้ชื่อว่า “iB11 SHOP” บนแพลตฟอร์มชื่อดัง ได้มีการขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงได้ล่อซื้อสินค้าจากร้านดังกล่าวมาตรวจสอบ จำนวน 1 รายการ ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เมื่อได้รับสินค้า ปรากฎว่าไม่มีฉลากภาษาไทยซึ่งสินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทของสินค้าให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2565

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงพื้นที่สืบสวนกรณีดังกล่าว จนเชื่อมโยงไปยังบ้านพักอาศัย 2 ชั้น แห่งหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ 5 ซอย 3 ต.หนองบัว อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ซึ่งด้านในมีการต่อเติมเป็นชั้นวางไว้กักเก็บสินค้า
จากการเฝ้าสังเกตและสืบสวนเชิงลึก พบสินค้าและกล่องสินค้าประเภทต่างๆ ถูกเก็บไว้ภายในบ้านเป็นจำนวนมาก โดยกล่องบรรจุสินค้ามีข้อความว่า (MADE IN CHINA) ผลิตจากประเทศจีน และพบหลักฐานเชื่อว่าอาจเป็นสินค้าที่มีรายละเอียดตรงกันกับที่โฆษณาขายอยู่บนแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ชื่อดัง

ต่อมา พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.3 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สอท.3 พร้อมหมายค้นศาลจังหวัดอุดรธานี ที่ 77/2568 ลงวันที่ 17 มี.ค.68 เข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว พบ MR.RENGEN MAO อายุ 52 ปี สัญชาติจีน นั่งทำงานอยู่ภายในบ้าน จึงได้เรียกออกมาแสดงหมายค้นพร้อมประสานล่ามแปลร่วมเข้าตรวจค้น

ผลการตรวจค้นพบสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการ ซึ่งแต่ละชิ้นไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ จากการตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่ชาวจีนคนดังกล่าวใช้ทำงาน พบการประกาศขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มชื่อดังมากมาย อาทิ Shopee, Lazada และ TikTok จากการตรวจค้นเบื้องต้น พบสินค้าประเภทลำโพง พัดลมมือถือ พัดลมตั้งโต๊ะ สายซาร์จโทรศัพท์ หูฟังบูลทูธ ขาตั้งลำโพง นาฬิกาสมาร์วอทซ์ รวมสินค้าทั้งหมดเกือบ 4,000 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

จากการสอบถามชาวจีนคนดังกล่าวเบื้องต้น ทราบว่าเข้ามาในประเทศไทยด้วยวีซ่า RETIREMENT (ใช้ชีวิตหลังเกษียณ) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 โดยก่อนเข้ามาในประเทศไทยได้ประกอบกิจการขายเสื้อผ้าอยู่ที่ประเทศจีน เมื่อเข้ามาในประเทศไทยได้รวมหุ้นกับเพื่อนรวม 3 คน และเช่าบ้านที่เกิดเหตุดังกล่าวเป็นสถานที่จัดเก็บสินค้า เพื่อรับสินค้าที่นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาขายต่อในประเทศไทย โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปีกว่า

ต่อมาประมาณช่วงเดือน สิงหาคม หุ่นส่วน 2 คนได้ถอนหุ่นไปเหลือเพียงแค่ตนเองที่ทำธุรกิจต่อ โดยประกาศขายในแพลตฟอร์ม Shopee, Lazada และ TikTok ใช้ชื่อร้านว่า “iB11 SHOP” โดยสินค้าทั้งหมดนำเข้ามาจากประเทศจีนผ่านทางเรือมาลงที่กรุงเทพ เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยจะมีชิบปิ้งขนสินค้าจาก กทม. มาส่งที่บ้านที่เกิดเหตุดังกล่าวเพื่อจัดเก็บไว้และรอจำหน่ายออก แต่ก็มาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเสียก่อน

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งขอกล่าวหา “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต”, “นําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการ ศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือ รับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร”, “ขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลาก แต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากสั่งเลิกใช้ตาม มาตรา 33 ทั้งนี้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” นำส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย