Travel Soft Power & Sport

พลิกโฉมศก.สร้างสรรค์ไทยโมเดลข้อมูล Creative Economy Data Model



กรุงเทพฯ, 19 มีนาคม 2568 – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) จัดงานสัมมนาและประชุมเชิงนโยบาย "Creative Economy Data Model: Mapping Ecosystem Potential" เพื่อแนะนำและวิเคราะห์การใช้ประโยชน์จากโมเดลข้อมูล Creative Economy Data Model (CEDM) มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบกรุงเทพฯ (TCDC กรุงเทพฯ) ในระหว่างวันที่ 19 - 20 มีนาคม 2568

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยข้อมูลอย่างยั่งยืน

 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก และกลายเป็นหนึ่งในตัวชูโรงเศรษฐกิจของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเองโดยอาศัยนวัตกรรม (Innovation) และจินตนาการ (Imagination) เป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าทรัพยากรแบบดั้งเดิมองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จึงได้พัฒนา Creative Economy Data Model (CEDM) ซึ่งเป็นโมเดลข้อมูลที่ช่วยให้แต่ละประเทศสามารถประเมินระดับของศักยภาพทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นระบบ วัดผลได้และมองเห็นเป้าหมายในอนาคต

ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในประเทศที่นำโมเดล CEDM มาทดลองใช้เพราะเห็นถึงโอกาสและอาจก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีในระยะยาวปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทยมีจำนวน 15 สาขาโดยในปี 2566 มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเทศไทยอยู่ที่ 1.44 ล้านล้านบาทเทียบเป็น 8.01% ของ GDP ประเทศรวมทั้งมีอัตราการเติบโตจากการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญจากความร่วมมือระหว่างองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO), กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้จัดสัมมนาเชิงนโยบายเพื่อร่วมกันทำการศึกษาและเรียนรู้ในการประยุกต์ใช้โมเดลดังกล่าวเพื่อใช้กำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมและธุรกิจสร้างสรรค์ไทยในเวทีนานาชาติ

 

 

ไฮไลต์ของงานสัมมนา
งานสัมมนา "Creative Economy Data Model: Mapping Ecosystem Potential" ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและผู้กำหนดนโยบาย มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของข้อมูลในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีหัวข้อสำคัญดังนี้

  • การทำความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ Creative Economy Data Model (CEDM)
  • กรณีศึกษานโยบายวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Cultural Policy) จากประเทศโคลอมเบีย
  • การวิเคราะห์โครงสร้างและดัชนีวัดเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • การแลกเปลี่ยนข้อมูลและกลยุทธ์การสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างสรรค์
  • แผนงานปรับใช้ CEDM ในประเทศไทยเพื่อพัฒนานโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์

วิทยากรที่ร่วมให้ข้อมูล (Keynote Speakers)

  1. Ms. Sylvie Forbinรองผู้อำนวยการใหญ่ส่วนงานลิขสิทธิ์และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ WIPO
  2. Mr. Dimiter Gantchev รองผู้อำนวยการและผู้จัดการอาวุโสส่วนงานลิขสิทธิ์และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ WIPO
  3. นางกอบกาญจน์วัฒนวรางกูรกรรมการทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  4. นางสาวนุสรากาญจนกูลอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
  5. ดร. ชาคริตพิชญางกูรผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ความคาดหวังต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
การทดลองใช้ CEDM ในประเทศไทยจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถกำหนดแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโมเดลดังกล่าวมีความโดดเด่นทางองค์รวม (Holistic Approach) ซึ่งสามารถวัดผลได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อทุกมิติทั้งเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย และข้อมูลที่วัดผลได้นี้อาจพลิกศักยภาพการแข่งขันเชิงพาณิชย์ในตลาดโลกได้