In Global

การประชุม‘นักการเงินโลกใต้’เป็นจุด สนใจในปักกิ่ง



ปักกิ่ง, 26 มี.ค. (ซินหัว) – ในการประชุมฟอรัมนักการเงินโลกใต้ (Global South Financiers Forum) ประจำปี 2025 ที่เพิ่งจบลง คำว่า “กลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South)” และ “ความร่วมมือ” กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงมากที่สุด แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

การประชุมฯ จัดขึ้นโดยสำนักข่าวซินหัว ระหว่างวันที่ 19-21 มี.ค.ที่ผ่านมา ดึงดูดผู้เข้าร่วมจากกว่า 30 ประเทศและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้แทนจากสถาบันการเงิน บริษัทข้ามชาติ องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสื่อมวลชนที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

ประเด็นหลักของการประชุมมุ่งเน้นไปที่บทบาทของนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างการเงินที่ครอบคลุมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแนวทางการเงินระดับโลก ซึ่งทำให้การประชุมครั้งนี้เป็นที่สนใจอย่างมากสำหรับผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ

"ภาคการเงินคือเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจประเทศ" เป็นข้อความที่ปรากฏบนกำแพงของย่านธุรกิจการเงินลี่เจ๋อ ศูนย์กลางการเงินแห่งใหม่ของปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม โดยแนวคิดนี้สะท้อนอยู่ในการอภิปรายที่กว้างขวางและลึกซึ้งภายในงาน

หลายคนเห็นพ้องกันว่าภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ กลุ่มประเทศโลกใต้ แต่ปัจจุบันกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังขาดตัวแทนที่มีบทบาทสำคัญในโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศที่ถูกครอบงำโดยประเทศพัฒนาแล้ว

เจียวเจี๋ย คณบดีคณะการเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) มหาวิทยาลัยชิงหัว กล่าวว่า กลุ่มประเทศโลกใต้กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งไม่เพียงช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจโลก แต่ยังช่วยลดความผันผวนในตลาดการเงินระดับโลกอีกด้วย

แม้ว่าจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ประเทศเหล่านี้กลับไม่ได้รับการยอมรับอย่างเหมาะสมในระบบการเงินระหว่างประเทศ มาร์ค อูซาน (Marc Uzan) ผู้อำนวยการบริหารของเดอะ รีอินเวนติ้ง เบรตตัน วูดส์ คอมมิตตี (Reinventing Bretton Woods Committee) ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มประเทศโลกใต้ยังคงรู้สึกผิดหวังที่พวกเขาไม่ได้รับการยอมรับในสถาบันทางการเงินระดับโลกอย่างที่ควรเป็น

แม้ว่าผู้แทนจากกลุ่มประเทศโลกใต้จะมาจากประเทศที่อยู่ในระยะพัฒนาแตกต่างกัน แต่พวกเขามีจุดยืนร่วมกันว่าการลดช่องว่างทางการเงินระหว่างกลุ่มประเทศโลกเหนือ (Global North) และ กลุ่มประเทศโลกใต้ต้องอาศัยการสื่อสารที่ดีขึ้น การประสานงานที่มากขึ้น และความร่วมมือที่แข็งแกร่งขึ้น

ที่ประชุมยังได้เน้นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันแก้ปัญหาที่กลุ่มประเทศโลกใต้ต้องเผชิญ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ตลาดที่กระจัดกระจาย ต้นทุนทางการเงินสูง อุตสาหกรรมพื้นฐานที่ยังไม่แข็งแกร่ง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ  และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น

ตัวอย่างเช่น เคลาส์-ดีเทอร์ เคมพ์เฟอร์ (Klaus-Dieter Kaempfer) ซีอีโอของแอบซา ไชน่า (Absa China) ประเมินว่าประเทศที่มีรายได้ระดับกลางและต่ำจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 89.1 ล้านล้านบาท) ต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในปี 2040

ในที่ประชุม ผู้แทนจากกลุ่มประเทศโลกใต้ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงิน โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินโลก และผลักดันให้เกิดระเบียบการเงินระหว่างประเทศที่มีความเป็นธรรม เสมอภาค และครอบคลุมมากขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศโลกใต้ยังถูกกระตุ้นให้ร่วมกันพัฒนาระบบการเงินของตนเอง ปรับปรุงกฎระเบียบทางการเงิน และลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ การฝึกอบรมบุคลากร และการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค

โจนาธาน ไททัส-วิลเลียมส์ (Jonathan Titus-Williams) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจของเซียร์ราลีโอน กล่าวทิ้งท้ายว่า เขามองเห็นอนาคตที่สดใสของความร่วมมือทางการเงินในกลุ่มประเทศโลกใต้

ที่มา https://www.xinhuathai.com/silkroad/505345_20250326 , https://en.imsilkroad.com/p/344871.html

ภาพประกอบข่าว
(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพแสดงพิธีเปิดการประชุมฟอรัมนักการเงินโลกใต้ (Global South Financiers Forum) ประจำปี 2025 ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2025)