Health & Beauty
ไขข้อข้องใจโรคไส้เลื่อนด้วยผ่าตัดชั้นสูง โดย นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย

ใครที่กำลังคิดว่า ไม่ใส่กางเกงชั้นในแล้วจะเป็นไส้เลื่อนแล้วล่ะก็.... ขอให้ลืมความเชื่อผิด ๆนั้นไปได้เลยครับ ... โรคไส้เลื่อน (Hernia) เกิดจากผนังหน้าท้องของเราไม่แข็งแรง ทำให้เกิดเป็นช่องว่างจนมีอวัยวะภายในช่องท้องยื่นออกมาได้ โดยส่วนใหญ่จะพบได้ในบริเวณขาหนีบ (Inguinal hernia) และบริเวณผนังหน้าท้อง (Ventral hernia) โดยสิ่งที่สามารถยื่นออกมาสามารถเป็นได้ตั้งแต่ไขมันภายในช่องท้อง ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงกระเพาะปัสสาวะ ส่วนโรคไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อยนัก ได้แก่ ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) ที่สัมพันธ์กับโรคกรดไหลย้อนและโรคไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator Hernia) ที่มีโอกาสทำให้เกิดลำไส้ขาดเลือดได้สูง โดยอาการของโรคไส้เลื่อนก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งและชนิดของโรค เช่น 1.ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia) เราจะรู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรยุบ ๆโผล่ ๆใกล้ ๆกับขาหนีบ บางครั้งอาจจะมีอาการปวดร้าวไปบริเวณอัณฑะหรือขาหนีบได้ โดยมักจะมีอาการเวลา เบ่ง ไอ จาม ลุกขึ้นยืน หรือเดิน เมื่ออาการเป็นหนักมากขึ้นจะมีอาการปวดตลอดเวลา หรือมีอาการอุดตัน และขาดเลือดของลำไส้ได้
2.ไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง (Ventral hernia, Incisional hernia) จะรู้สึกเหมือนมีก้อนยุบ ๆโผล่ ๆ
บริเวณหน้าท้อง โดยส่วนใหญ่จะพบได้บริเวณตรงกลางหน้าท้อง สะดือ หรือบริเวณแผลผ่าตัด เมื่ออาการเป็นมากจะเริ่มมีอาการปวด มีการอุดตันของลำไส้ และเกิดการขาดเลือดได้เช่นเดียวกัน
3.ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) จะเป็นโรคที่ไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าไหร่นักในคนไทย แต่ในปัจจุบันสามารถพบได้บ่อยมากขึ้น โดยโรคนี้มักจะพบในผู้ที่น้ำหนักเกิน และสัมพันธ์กับโรคกรดไหลย้อน
4.ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator hernia) ไส้เลื่อนชนิดนี้ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้ไม่
บ่อย โดยจะสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ ที่กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง ซึ่งมีโอกาสการเกิดลำไส้อุดตัน และขาดเลือดได้สูง โดยจะมีอาการเริ่มต้นคือ ปวดท้อง บิดๆตลอดเวลา ไม่สามารถสังเกตุก้อนได้จากภายนอก ต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมจาก CT scan บริเวณช่องท้องเพียงวิธีเดียว
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไส้เลื่อน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนมีอยู่ 2 ประการ คือ แรงดันในช่องท้อง และ ความอ่อนแอของผนังหน้าท้อง
1.ปัจจัยที่ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้อง ได้แก่ อาการท้องผูกเรื้อรัง ปัสสาวะลำบาก การยกของหนัก การตั้งครรภ์ โรคอ้วน อาการไอเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นจากการสูบบุหรี่ หรือ โรคประจำตัวก็ตาม
2.ปัจจัยที่ทำให้ผนังหน้าท้องเราอ่อนแอ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น มีความผิดปกติของผนังหน้าท้องแต่กำเนิด หรือ มีประวัติเคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
การวินิจฉัย
โดยปกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยไส้เลื่อนได้จากการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบ หรือไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง แต่ในกรณีไส้เลื่อนชนิดอื่นๆ หรือไส้เลื่อนที่มีขนาดเล็ก อาจจะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำ CT scan, MRI, หรือส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
วิธีการรักษา
แน่นอนครับว่าไม่ใช่ว่าใส่กางเกงในแล้วจะหายจากการเป็นไส้เลื่อน... แต่เป็นการผ่าตัดเท่านั้นถึงจะเป็นการรักษาโรคไส้เลื่อนได้ นอกเหนือจากการผ่าตัดเพื่อเสริมความแข็งแรงของหนังหน้าท้องแล้ว การควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ยังเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยลดการกลับเป็นซ้ำ เช่น การรักษาโรคปัสสาวะลำบาก ท้องผูกเรื้อรัง รักษาสาเหตุอาการไอเรื้อรัง เลิกบุหรี่ ลดน้ำหนักส่วนเกิน
การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาไส้เลื่อนขาหนีบ
การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อน โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการเย็บซ่อมแซมบริเวณผนังหน้าท้อง และเสริมความแข็งแรงด้วยตาข่ายเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ โดยในอดีตการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อนจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดซึ่งมีแผลเป็นขนาดใหญ่เกือบ 10 ซม. และ ฟื้นตัวได้ช้า แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยรองรับมากมายว่า การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อน ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวไวกว่าการผ่าตัดแบบเปิด โดยจะผ่าตัดผ่านแผลเล็กๆขนาดไม่เกิน 1 ซม. ซึ่งจะเป็นซ่อมแซมผนังหน้าท้องจากภายใน และ อีกหนึ่งข้อดีที่สำคัญคือสามารถผ่าตัดไส้เลื่อนทั้ง 2 ข้างได้พร้อมกัน โดยผ่านแผลเดียวกัน
หากใครเริ่มมีอาการแล้ว แนะนำให้เข้าไปปรึกษาแพทย์ถึงการผ่าตัด อย่าปล่อยทิ้งเอาไว้จนมีขนาดใหญ่ขึ้นนะครับ เพราะเมื่อไส้เลื่อนใหญ่ขึ้น อาการจะปวดมากขึ้น ผ่าตัดยากขึ้น และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ครับ ติดตามหรือสอบถามรายละเอียดของโรคกับผมได้ที่ Line@dr.sirasit,Tiktok@dr.sirasit , Instagram@dr.sirasit และ เฟซบุ๊กหมอโจอี้ นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้อง