EDU Research & Innovation

วว.พัฒนานวัตกรรมการนึ่งเพิ่มมูลค่าผลิต ข้าวฮางงอกลดมลพิษ-สร้างรายได้



กรุงเทพฯ-“ข้าวฮางงอก”เป็นภูมิปัญญาชาวอีสานมาแต่ดั้งเดิมโดยเป็นข้าวที่เพาะงอกจากข้าวเปลือก มีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และมีกลิ่นหอมจากเปลือกมาเคลือบที่เมล็ดข้าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ข้าวฮางมีสารอาหารมากและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและสมดุล ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันเชื้อโรคหรือโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคได้ดี เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน ไขข้ออักเสบ โรคไต โรคเกี่ยวกับประสาทและสมอง ความจำเสื่อม การแก่เกินวัย โรคมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง หรือได้รับสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี สารเร่งการเจริญเติบโต สารกันบูด สารสังเคราะห์ และอากาศที่เป็นพิษ

กรรมวิธีการทำข้าวฮางงอกเริ่มจากการนำเอาข้าวเปลือกมาแช่น้ำไว้ เพื่อกระตุ้นการงอกของข้าวเปลือก ทำให้เกิดการทำงานของสารเอนไซม์และสารอาหารต่างๆ เมื่อข้าวเปลือกเริ่มงอกจะผลิตสารอาหารชนิดหนึ่งขึ้นมา คือ สาร GABA (กาบา) ที่มีส่วนช่วยในเรื่องความจำ และเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แล้วจึงนำข้าวเปลือกที่งอกแล้วไปนึ่ง เพื่อหยุดกระบวกการงอกทำให้สารอาหารที่เพิ่มขึ้นคงอยู่ในเมล็ดข้าว และคงคุณค่าทางโภชนาการให้คงไว้แล้วนำข้าวเปลือกไปตากให้แห้ง และนำไปสีโดยเครื่องสีข้าวกะเทาะเปลือก

ทั้งนี้“ขั้นตอนการนึ่งข้าวเปลือก” เป็นกรรมวิธีสำคัญในการผลิตข้าวฮางซึ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ในการนึ่งข้าวฮางงอกของชุมชน ประกอบด้วยเตาและไม้ฟืน ซึ่งวิธีนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการผลิต เนื่องจากมีความร้อนสูญเสียที่กระจายออกรอบเตา ทำให้ไม่สามารถควบคุมความร้อนและอุณหภูมิของเตาให้คงที่ จึงต้องใช้เวลานานในการนึ่งแต่ละครั้ง

นอกจากนี้ระยะเวลาในการนึ่ง ยังขึ้นอยู่กับค่าความร้อนของไม้ฟืนแต่ละชนิด โดยค่าความร้อนของไม้ฟืนและถ่านไม้ (Heating Value) เฉลี่ยประมาณ 6,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม คาร์บอนคงที่ (Fixed carbon) ประมาณร้อยละ 60 สารระเหย (Volatile Matter) ประมาณร้อยละ 16 และเถ้า (Ash) ประมาณร้อยละ 10ทั้งนี้ขึ้นกับความชื้นของไม้ (Moisture) โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ไม้ฟืนเปียกชื้น ทำให้ติดไฟยาก และใช้เวลานานมากขึ้นในการนึ่งข้าวฮางงอกที่นอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานสูงแล้ว ยังมีปัญหาต่อเนื่องจาก ฝุ่น ควัน เขม่า และขี้เถ้า ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้ฟืน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงานและชุมชนโดยรอบ

ดังนั้นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีกระบวนการนึ่งข้าวฮางงอกที่ทันสมัยและใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพที่ให้ความร้อนสูงและลดมลภาวะทางอากาศ มาประยุกต์ใช้ในชุมชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยลดปัญหาด้านการใช้ไม้ฟืนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตที่ก่อให้เกิดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบันนวัตกรรมเทคโนโลยียังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวฮางงอก ลดขั้นตอนการผลิต ลดระยะเวลา ลดแรงงาน และมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพและร่างกายของผู้ปฏิบัติงานลดความเครียดและความเหนื่อยล้าจาก ฝุ่น ควันที่เป็นมลพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับวิสาหกิจชุมชนให้สามารถผลิตข้าวฮางงอกเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นเพื่อจำหน่ายต่อไป

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักกลอัตโนมัติ(ศนย.)สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการนึ่งในการผลิตข้าวฮางงอกที่เกิดการสูญเสียพลังงานสูง จึงได้พัฒนาและออกแบบ “นวัตกรรมการนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตข้าวฮางงอก”และจัดสร้างอุปกรณ์ท่อนำไอน้ำแรงดันต่ำแยกทิศทางสำหรับใช้ในกระบวนการนึ่งข้าวฮางงอก

โดยการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว เป็นการปรับปรุงกระบวนการนึ่งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยกระบวนการนึ่งแบบไอน้ำ(Steamer)โดยใช้แก๊สปิโตรเลียมเหลวหรือแก๊สแอลพีจี (LPG)เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีค่าความร้อน 11,700-11,900 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม อุณหภูมิเปลวไฟประมาณ 1,900-2,000 องศาเซลเซียส ทำให้มีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง สามารถควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ โดยแก๊สแอลพีจีมีค่าความร้อนมากกว่าฟืนประมาณ 3 เท่า อีกทั้งช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการผลิตทำให้ประหยัดและลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงพลังงานวัสดุที่ใช้ประกอบซึ่งต้องสัมผัสกับอาหารเป็นสแตนเลสเกรดอาหาร (Food Grade) เพื่อให้เกิดความสะอาด มีความปลอดภัย อีกทั้งยังแข็งแรง คงทนสามารถทำความสะอาดและเก็บรักษาง่ายเพื่อยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตให้กับธุรกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปจำหน่ายข้าวฮางงอก

“นวัตกรรมการนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตข้าวฮางงอก”  ที่ วว. พัฒนาสำเร็จ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 4 กลุ่ม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตข้าวฮางงอกในปริมาณสูง ได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านห้วยไห ตำบลบ้านค้อ อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม  2.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพมนต์บ้านต้องโพนสวาง ตำบลโพนทอง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม  3.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวตำบลน้ำผึ้ง (ข้าวสุข) ตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม  และ 4.วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวกล้อง ตำบลโพนทองและตำบลบ้านแพง จังหวัดนครพนม

จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวพบว่านวัตกรรมการผลิตข้าวฮางงอกด้วยระบบนึ่งแบบไอน้ำ(Steamer)โดยใช้ก๊าซแอลพีจีสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวฮางงอกได้  ดังนี้

1) กระบวนการผลิตข้าวฮางงอกมีการควบคุมความร้อนได้คงที่มากขึ้น

2) ต้นทุนด้านพลังงานลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ จาก 1.5 บาท/กิโลกรัมข้าวฮาง เหลือ 1.2 บาท/กิโลกรัมข้าวฮาง

3) ต้นทุนด้านพลังงานแรงงานลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ จากที่ใช้แรงงานในการผลิต 4 คน ลดเหลือใช้แรงงานเพียง 2 คน

4) ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 450 กิโลกรัมต่อวัน

5) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหลังจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้สามารถผลิตได้ถึง 600 กิโลกรัมต่อวันและสามารถเพิ่มรายได้ 100,000 -200,000 บาท แล้วแต่กำลังการผลิตของแต่ละชุมชน

6) ลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากกระบวนการผลิต สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

วว. ได้จดอนุสิทธิบัตรอุปกรณ์ท่อนำไอน้ำแรงดันต่ำแยกทิศทางสำหรับใช้ในกระบวนการนึ่งข้าวฮางแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมขยายผลสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เป็นทางเลือกในการแปรรูปข้าวเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้เพิ่ม พร้อมมุ่งเป้าถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลไปในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวฮางงอกพร้อมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสาเหตุ/ปัจจัย/การแก้ไข มลภาวะทางอากาศจากกระบวนการผลิตทางการเกษตร  อันจะนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ วว. ติดต่อ ได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”