In News
นายกฯถกปม'ส่งSMSเตือนแผ่นดินไหว' เอกชนรับลูก/ปูทางรับCell Broadcast

กรุงเทพฯ-นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ ถกปม “ส่ง SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว” ย้ำเป็นหนึ่งในเครื่องมือเชิงรุกในการสื่อสาร ให้ประชาชนรับทราบข้อมูล ด้านภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือเพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของประเทศ และนายกฯเดินหน้าปรับปรุงระบบเตือนภัย ผ่าน SMS ปูทางรับ Cell Broadcast กรกฎาคม ย้ำข้อความต้องกระชับ ถูกต้อง เข้าใจง่าย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ติดตามการช่วยเหลือ ผู้ติดค้างในตึก สตง. ถล่ม พร้อมให้กำลังใจทีมไทยและทีมอาสาต่างชาติ ย้ำ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
วันนี้ (31 มีนาคม 2568) เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กรบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)เข้าร่วม
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสอบถามในที่ประชุมถึงการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว (28 มีนาคม 2568) ซึ่งพบข้อจำกัดใน 2 ประเด็น คือ 1. มีการดำเนินการช้าในช่วงสรุปข้อความ และ 2. มีความล่าช้า ในขั้นตอนการส่งข้อความ
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สรุปผลการหารือที่ประชุม 3 ฝ่าย ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ว่า ปภ. จะดำเนินการทำระบบปฏิบัติการใหม่ในเรื่องการเตือนภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และให้กำหนดไทม์ไลน์ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แล้วจะใช้เวลาอย่างไร กี่นาที เพื่อที่จะได้เกิดความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ขณะที่ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม NT TRUE AIS ให้ความมั่นใจในการหาแนวทางสื่อสาร ใช้เป็นระบบสำรอง ก่อนที่จะมีการใช้ระบบ Cell Broadcast
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เมื่อเกิดเหตุ ควรจะแจ้งเตือนภายในเวลา 5 นาที ซึ่งตนเองเห็นใจและเข้าใจว่าข้อมูลต้องชัดเจน แต่เหตุแผ่นดินไหวเกิดแล้ว ข้อความส่งได้เลย ซึ่งการส่ง SMS เป็นหนึ่งในเครื่องมือเชิงรุกในตอนนี้ เพื่อการแจ้งเตือนว่ามีแผ่นดินไหว เมื่อเช้าตนเองได้ให้สัมภาษณ์ และโพสต์ในโซเชียลมีเดีย สื่อสารว่า เมื่อเช้าไม่ใช่แผ่นดินไหว ต้องช่วยสื่อสารทุกรูปแบบ เพื่อแจ้งยืนยันถึงสถานการณ์ ไม่ให้ประชาชนสับสนเกิดความตื่นตระหนก
นายกรัฐมนตรี กำชับถึงความชัดเจนของหน่วยงานหลัก หรือเจ้าภาพงาน จะกำหนดขั้นตอน (flow) ในการแจ้งเตือนประชาชนในอนาคตให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน ซึ่งระบบเตือนภัยต้องครอบคลุมและสามารถจำแนกประเภทของภัยได้อย่างชัดเจน ตามข้อแนะนำของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่แบ่งภัยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ภัยธรรมชาติ มีหลายระดับของการเตือนภัย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ 2) ภัยไซเบอร์ การโจมตีที่ส่งผลกระทบต่อระบบสำคัญ เช่น โรงพยาบาล สายการบิน และระบบสื่อสาร จำเป็นต้องมีการเตรียมการรับมือที่มีประสิทธิภาพ และ 3) ภัยที่เกิดจากมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ หรือเหตุการณ์ก่อการร้าย เป็นต้น
ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งหน้าที่ และขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1. ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผนและมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ระบบ work flow ให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกหน่วยงานเข้าใจตรงกัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ก่อน และหลังระบบ Cell Broadcast
2. ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หามาตรการในการประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยา กสทช. เรื่องการส่งข้อความเตือนภัยให้ชัดเจน
3. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งออกมาตรการข้อกำหนดต่าง ๆ ในการตรวจสอบอาคารสูง เพื่อให้ได้มาตรฐาน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบบ Cell Broadcast ให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดรับข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบส่งข้อความหรือแนวทางอื่น ๆ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
เดินหน้าปรับปรุงระบบเตือนภัยผ่านSMSปูทางรับCell Broadcast
เวลา 15.05 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ AIS TRUE และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เพื่อร่วมถอดบทเรียนและวางแนวทางปรับปรุงระบบแจ้งเตือนภัย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจาก Cell Broadcast จะสามารถใช้ได้ช่วงเดือนกรกฎาคม เพราะฉะนั้นหากมีอะไรเกิดขึ้นจะดำเนินการอย่างไร โดยที่ประชุมได้มีข้อสรุปที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบ SOP ส่งข้อความได้เลยจากที่รับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่ต้องวิเคราะห์ข้อความ ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 1 ชั่วโมง และเนื้อหาต้องเป็นข้อความที่กระชับ ถูกต้อง เข้าใจง่าย นอกจากนั้น ระหว่างรอ Cell Broadcast ระบบเต็มมานั้นให้ใช้เป็นระบบ Virtual Cell Broadcast ก่อนที่จะถึงเดือนกรกฎาคม สำหรับระบบ Android จำนวน 70,000,000 เลขหมาย ปภ. จะส่งข้อความตรงไปที่ Operator ได้เลย ส่วนในระบบ iOS จำนวน 50,000,000 เลขหมาย ให้ใช้การส่ง SMS ไปก่อน โดยให้ทาง ปภ. ส่งข้อความตรงไปที่ Operator เช่นกัน เพื่อกระจายข้อความสู่ประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. จะเร่งเจรจากับทางบริษัทแอปเปิล เพื่อเร่งให้สามารถใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast ชั่วคราว โดยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะสามารถใช้ได้ทันทีก่อนที่ระบบ Cell Broadcast เต็มรูปแบบจะมาช่วงเดือนกรกฎาคม
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ระบบเตือนภัย SMS หรือ Cell Broadcast เป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการแจ้งเตือนภัย แต่รัฐบาลจะมีช่องทางการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น LINE Facebook รวมถึงโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจอย่างที่เคยได้สื่อสารในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งทาง ปภ. จะส่งให้กับทางสื่อหลักอีกครั้ง นอกจากนี้ กรมประชาสัมพันธ์ได้เริ่มดำเนินการประชาสัมพันธ์เบื้องต้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS เป็นส่วนหนึ่งในการแจ้งเตือน เมื่อ Cell Broadcast มาจะสามารถกระจายการแจ้งเตือนครอบคลุมทุกเลขหมายได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีเสียงแจ้งเตือนดังขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วม หรือพายุ เหมือนกับในต่างประเทศ
นายกฯ ติดตามการช่วยเหลือ ผู้ติดค้างในตึกสตง.ถล่ม
วันนี้ (31 มีนาคม 2568) เวลา 12.00 น.นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ลงพื้นที่เขตจตุจักร เพื่อติดตามความคืบหน้า อาคาร สตง. ถล่ม เพื่อติดตามสถานการณ์และรับฟังรายงานล่าสุด
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบกับอาสาสมัครจากหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนของกองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมรับฟังรายงานล่าสุด ซึ่งมีข่าวดีว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพบสัญญาณชีพเพิ่มเติม จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินไปที่จุดของหน่วยกู้ชีพซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว
โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับทีมอาสาชาวต่างชาติ ว่า หากต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม ขอให้ติดต่อมาได้ทันที รวมทั้ง ได้สอบถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวิธีการลำเลียงผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ซึ่งพบว่า เส้นทางนำส่งผู้ประสบภัยไม่มีความซ้ำซ้อนกับเส้นทางหลัก โอกาสนี้ ได้พบปะหารือกับนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่เดินทางมาร่วมให้กำลังและคอยสังเกตการณ์ในพื้นที่ เนื่องจากทางการอิสราเอลได้นำเครื่องมือพิเศษสแกนหาสัญญาณชีพมาร่วมในปฏิบัติค้นหาผู้ติดค้างตึกถล่มในครั้งนี้ด้วย