In Bangkok
'ผู้ว่าฯชัชชาติ'รอลุ้น!ผู้รอดชีวิตในทุกวัน ย้ำชัดไม่ต้องไปโฟกัสแค่ตัวเลข

กรุงเทพฯ-“เรามีความหวัง และเราไปด้วยความหวัง” ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำชัด ไม่ต้องโฟกัสแค่ตัวเลข ความหวังของเราทุกคนคือ ผู้รอดชีวิตในทุกวัน
(1 เม.ย. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวความคืบหน้าการกู้ภัยอาคารถล่มจากสถานการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่เขตจตุจักร ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จตุจักร ว่า เราค้นหาผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดยขยับอีกระยะหนึ่งคือ การรื้อถอนสิ่งที่หักพังขนาดใหญ่ออก โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อคืน มีการวางแผนกันตอน 6 โมงเย็น โดยทีมกู้ภัยนานาชาติ ซึ่งเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ เป็นระดับที่เรียกได้ว่าเป็น heavy คือเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก เมื่อคืนมีการติดตั้งเครนทั้งหมด 4 ตัว มี 600 ตันหนึ่งตัว ส่วนทางด้านซ้าย 500 ตัน ตรงกลาง 200 ตัน อีก 2 ตัวประกอบกัน เช้านี้เริ่มยกตั้งแต่เวลา 08.00 น. ซึ่งถือว่าทำได้เร็ว เพราะว่าการยกเครนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องยกทีละชิ้น โดยมีการกำหนดจุดจากผู้เชี่ยวชาญ เมื่อเช้านี้มีทั้งหมด 4 จุด แล้วก็ยกออกเสร็จตามกำหนดภายในเที่ยงวัน จากนั้นก็ทยอยยกอีก 67 ชิ้น
ส่วนเรื่องผู้รอดชีวิต ยังไม่พบสัญญาณชีพ แต่เห็นว่ามีร่างผู้เสียชีวิตอยู่ น่าจะ 12 ร่างที่อยู่ด้านใน แต่ยังไม่ได้ออกมาเพราะว่าการนําออกร่างออกมา ยังถือว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ สิ่งไหนที่พอนำออกมาได้เราก็นำออกมา อย่างร่างล่าสุดที่เสียชีวิตแล้วก็นำออกมาก่อน แต่ว่าถ้าสิ่งไหนที่อยู่ลึกแล้วมีความเสี่ยง เราจะเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตก่อนในตอนนี้ คือ จะค่อย ๆ ยกออกทีละชิ้น เพราะน้ำหนักเยอะมาก แล้วก็เอาหน่วยเดินเท้าเข้าเคลียร์เปิด คือ เราทำอย่างนี้ไปทั้งคืน โดยจะทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะว่าทีมที่มาเขาบอกว่าเขายังมีความหวัง ทางทีมผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ แล้วก็ทุกคนที่บอกเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ทีมเราเองก็ได้เรียนรู้เยอะ ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป
วันนี้มีหน่วยงานเข้ามาหลายหน่วยงานเหมือนกัน เริ่มมาเก็บหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งเราก็ต้องให้ความร่วมมือ ในการมาเก็บหลักฐานต่าง ๆ ก็อาจจะต้องมีการประสานเวลาในการเข้าออกด้วย และอีกเรื่องที่สำคัญคือ เวลาที่ถามเรื่องเปอร์เซ็นต์ผู้รอดชีวิต ตรงนี้ตอบไม่ได้ ถ้าตอบคือการโกหก เราแค่รู้ว่าเรามีความหวัง แล้วเราก็ต้องไปด้วยความหวัง เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบอกว่าไม่มีความหวัง เรื่องนี้แล้วแต่ประสบการณ์ คือเราเชื่อมั่นในประสบการณ์ของทีมต่างชาติที่มา เขาบอกว่าไปต่อ มันมีเคสที่คนรอดได้ แล้วข้างในอากาศก็ไม่ได้ร้อนมาก ข้างในมีโพรงอยู่ เชื่อว่าอยู่ได้ ถ้าไม่โดนทับ เพราะฉะนั้นก็ต้องลุยกันต่อ
ทีมกู้ภัยไทย - นานาชาติ ลุยต่อเนื่อง เพิ่มเครนยักษ์ 4 ตัว ยกซากอาคารเปิดทางค้นหาผู้รอดชีวิต
เช้าวันนี้ (1 เม.ย. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สังเกตการณ์พร้อมติดตามความคืบหน้าและให้กำลังใจทีมกู้ภัยไทยและทีมนานาชาติ ในการค้นหาผู้ประสบภัยจากอาคารถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ณ ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เรายังเดินหน้าค้นหาต่อไม่หยุด ตอนนี้ต้องเริ่มปอกเข้าไปข้างในเยอะขึ้น ขณะนี้มีเครนพร้อมแล้ว ทั้งแบบ 600 ตัน และ 500 ตัน อย่างละตัว และแบบ 200 ตัน 2 ตัว รวม 4 ตัว ต้องขอบคุณทีมกู้ภัยนานาชาติมาช่วยกันวางแผนต่อ หลายคนคือยอดฝีมือที่ผ่านเหตุการณ์สุดหินอย่างแผ่นดินไหวที่ตุรกีมาแล้ว โดยหลักการทำงานตอนนี้คือ เลือกชิ้นส่วนซากตึกแล้วยกออก จากนั้นเข้าทำการค้นหา ยกออกแล้วค้นหา ทำต่อเนื่องกันไป โดยเช้านี้จะยกออก 4 ชิ้น แต่การยกซากอาคารออกนั้นไม่ง่ายเพราะต้องตัดเหล็กด้วย รวมถึงต้องตัดย่อยปูนให้น้ำหนักไม่เกินที่เครนยกได้ เพราะเครน 600 ตันก็จริง แต่เมื่อยื่นแขนเครนออกมา น้ำหนักที่ยกได้ก็จะลดลง
สำหรับบริเวณที่เลือกปฏิบัติการวันนี้ ใต้ชิ้นส่วนที่ยกออกคือทางหนีไฟ คาดว่าน่าจะมีคนมาออกตรงนี้ตอนเกิดแผ่นดินไหว ที่ผ่านมาพยายามหาช่องทางเข้าไปแต่ไม่มีโพรงจึงต้องเลือกวิธีการยกซากอาคารออก ซึ่งมีความเสี่ยงแต่เราต้องทำทุกทางที่เป็นไปได้
“ทุกคนช่วยกันได้ มีสติ อย่าตื่นตระหนก อย่าส่งข่าวลือ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะจะทำให้คนทำงานยิ่งเหนื่อย ตอนนี้คิดว่าส่วนใหญ่ชีวิตกลับสู่ปกติแล้ว เหลือเพียงจุดนี้ที่เราต้องทุ่มเทให้เต็มที่ที่สุด เรายังหวังว่าจะมีผู้รอดชีวิต” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ไม่หยุด–ไม่ถอย! กทม.ย้ายศูนย์บัญชาการลงพื้นที่เขตจตุจักร
(1 เม.ย. 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์กู้ภัยอาคารถล่มในพื้นที่เขตจตุจักร ว่า ก่อนอื่นต้องขอโทษด้วยที่แถลงข่าวสายไป จากที่นัดไว้ประมาณ 10.00 น. เนื่องจากเช้านี้มีเรื่องจัดการด้านในค่อนข้างเยอะ ตอนนี้เราเริ่มถูกบีบการใช้ถนนด้านหน้านี้ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องรบกวนสื่อ ขยับพื้นที่สื่อถอยหลังไปอีก แล้วปรับพื้นที่ตรงนี้ให้โล่งหมด เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้ จะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าออก เปิดช่องทางให้รถเข้าออกได้ 2 ทาง
หลังจากเมื่อวานนี้ตอนเย็น เราก็พบผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็น 13 ราย ตอนนี้ทางทีมกู้ภัยข้างในยังค้นหาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เช้าเรามีการสแกน พบว่าเป็นรูปร่างกัน เพราะฉะนั้นเราก็เลยพยายามจะปรับแผนอีกครั้งหนึ่งก่อนจะเข้าไป ซึ่งตอนนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาอยู่ด้านใน โดยมีการประชุมด้วยตนเอง เพื่อประสานแนวทางกับผู้เชี่ยวชาญนานาชาติถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ที่ยังติดอยู่ในอาคารถล่ม
ตอนนี้เราย้ายศูนย์บัญชาการมาอยู่ที่จตุจักร เพื่อบัญชาการจากที่นี่ ส่วนศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ที่ศาลาว่าการ กทม. จะเปลี่ยนเป็นศูนย์อำนวยการ เพราะว่าเราลดระดับการจัดการลงมาอยู่ที่ตรงนี้ ตรงนั้นจะเป็นแค่ศูนย์อำนวยการของกรุงเทพมหานคร ตรงนี้จะเป็นศูนย์บัญชาการหลัก เพราะเรายังค้นหาต่อเนื่อง เรื่องนี้ขอทำความเข้าใจ เพราะบางท่านเข้าใจผิดว่าเมื่อคืนเราประกาศยกเลิกกองอำนวยการป้องกันฯ การประกาศแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครยังคงพื้นที่ของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อยู่ตรงนี้ เพื่อบริหารจัดการในส่วนนี้ให้เข้มมากขึ้น
ต่อจากนี้ไปจะเป็นการผนึกกำลังร่วมกัน โดยตั้งศูนย์บัญชาการ ณ พื้นที่อาคารถล่มเขตจตุจักรแห่งนี้ โดยรวมทรัพยากรทุกอย่างมาจุดนี้ เนื่องจากจุดอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่วิศวกรอาสาและสำนักงานเขตยังคงตรวจอาคารที่ได้รับแจ้งมาทาง Traffy Fondue อยู่ รวมถึงการระงับใช้อาคารที่ไม่มีความปลอดภัย และระเบียบขั้นตอนการเยียวยายังคงดำเนินการต่อเนื่องอยู่
นอกจากนี้ จากการสแกนด้วยเครื่องมือยังพบรูปร่างอีก 6 ราย เบื้องต้นเห็นว่ามีการเกาะกลุ่ม ด้านล่างบริเวณโซน A ซึ่งขณะนี้ได้หย่อนกล้องลงไปยังจุดดังกล่าว เพื่อตรวจเช็กสัญญาณชีพ หรือการเคลื่อนไหวของอวัยวะ คาดว่าวันนี้จะเข้าไปถึงจุดให้ได้ โดยบอกทีมข้างในให้ทำเต็มที่ แต่ขณะนี้ตัวเลขผู้สูญหายยังอยู่ที่ 74 คน
ต้องบอกว่ายังสู้ไม่ถอย ทุกคนยังพยายามจะทำทุกวิถีทาง แต่ละโซนจะทำอย่างไร การที่จะเข้าไปอาจจะมีการกระทบกันระหว่างโซนได้ เพราะฉะนั้นก็อาจจะต้องระวังมากหน่อย ยอมรับก็เหนื่อย ทุกคนข้างในก็เหนื่อย แต่ด้วยเหตุผลคืออยากให้เขารอด เราอยากให้มีความก้าวหน้าทุกวัน ตัวเราก็พยายามเต็มที่แล้ว เราไม่หยุด สัญญาว่าอย่างไรก็ไม่หยุด
กทม. เข้าใจว่าคุณยังวิตกกังวล ตั้งทีมเยียวยาสุขภาพจิตใจ เคียงข้างประชาชนตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว
(1 เม.ย.68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า จากเหตุอาคารถล่ม ในพื้นที่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดหน่วยปฐมพยาบาล และเยียวยาจิตใจ (MCATT) ณ บริเวณเหตุอาคารถล่ม และศูนย์พักพิงในพื้นที่ต่างๆ ที่ กทม. จัดตั้งขึ้น โดยร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และล่ามภาษาเมียนมา จากกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ญาติของผู้ประสบภัย รวมถึงประชาชนใกล้เคียงที่มีความวิตกกังวล เครียด สามารถรับคำปรึกษา พบนักจิตวิทยา พยาบาล หรือจิตแพทย์ เพื่อรักษาเบื้องต้นได้ฟรี
นอกจากนี้ในพื้นที่เขตอื่นๆ ของ กทม. ประชาชนสามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งและโรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานครได้ ในวันและเวลาราชการ หรือติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323, 1667 application DMIND และ Sati
สำหรับผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ 28 - 31 มี.ค. 68 ณ บริเวณอาคารถล่ม เขตจตุจักร ปฐมพยาบาลสุขภาพทั่วไป เช่น ปวดหัว เป็นลม ตะคริว จำนวน 929 ราย ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต รวม 282 ราย