In News
นายกฯรับนายกฯเนปาลเยือไทยรอบ66ปี ลงนามบันทึก8ฉบับยกระดับความร่วมมือ

กรุงเทพฯ-นายกฯ แพทองธาร เปิดทำเนียบรัฐบาล ต้อนรับนายกฯ เนปาลเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 66 ปี หนุนความร่วมมือการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยวและไทย-เนปาล ยกระดับความร่วมมือ ลงนาม 8 ฉบับ กระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การค้า อุตสาหกรรม การแพทย์ เกษตรกรรม และการศึกษา
นายกฯต้อนรับนายกฯเนปาลเยือนไทยรอบ66ปี
วันนี้ (วันพุธที่ 2 เมษายน 2568) เวลา 10.30 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายเค พี ศรรมะ โอลี (Rt. Hon. Mr. K P Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีเนปาล และภริยา ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีเนปาลได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีเนปาลไปยังห้องสีม่วงเพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี และไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน ก่อนเข้าร่วมหารือทวิภาคี ณ ห้องสีงาช้าง ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีเนปาลสู่ประเทศไทย ถือเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีเนปาล นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปีนี้นับเป็นโอกาสครบรอบ 66 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเนปาล ที่มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น โดยเฉพาะด้านจิตวิญญาณและวัฒนธรรม ซึ่งมีชาวไทยหลายพันคนเดินทางไปยังลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าเป็นประจำทุกปี พร้อมชื่นชมความสำเร็จของรัฐบาลเนปาลในการเลื่อนสถานะไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2026 และขอให้เนปาลสามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น พร้อมชื่นชมศักยภาพทางเศรษฐกิจของเนปาล รวมถึงความสำเร็จด้านการพัฒนาที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะด้านพลังงานน้ำ ซึ่งในวันนี้ทั้งสองฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจ (MoUs) จำนวน 8 ฉบับ ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกต่อความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในอนาคต
นายกรัฐมนตรีเนปาล ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในไทยในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวเนปาล เนปาลขอยืนหยัดเคียงข้างประเทศไทยในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ ขณะเดียวกัน ก็จะสานต่อความร่วมมือกับไทยในทุกด้าน ตั้งแต่ระดับทวิภาคีไปจนถึงระดับภูมิภาค และขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างสองประเทศ โดยเนปาลพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับไทยในด้านที่มีศักยภาพร่วมกัน โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีต่าง ๆ พร้อมชื่นชมความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีไทยในการพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เนปาลให้ความสำคัญกับการประชุม BIMSTEC และพร้อมทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และขอเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเยือนเนปาลอย่างเป็นทางการในเวลาที่เหมาะสม
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
ความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทยและเนปาลพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีกลไกความร่วมมือที่สำคัญคือ การประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Commission Meeting) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการหารือและขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเห็นพ้องที่จะสนับสนุนให้กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์สูงสุดจากกลไกทวิภาคีที่มีอยู่เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุน โดยเฉพาะในด้านการเกษตร การแปรรูปสมุนไพร บริการทางการแพทย์ และการท่องเที่ยว โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า บริษัทไทยหลายแห่งได้แสดงความสนใจอย่างมากในการขยายธุรกิจในเนปาล รวมถึงบริษัทไทยบางส่วน ได้ก่อตั้งธุรกิจในเนปาลแล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีเนปาลเห็นถึงศักยภาพของภาคเอกชนไทยในเนปาล ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเนปาลพร้อมอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและลดอุปสรรคทางการค้าเพื่อดึงดูดธุรกิจไทยและนักลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง
การเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตร ภาคการเกษตรเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านนี้ โดยเนปาลมีความอุดมสมบูรณ์ด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยเฉพาะสมุนไพรคุณภาพสูงที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์หลายชนิด ขณะที่ไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยไทยพร้อมแบ่งปันความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเนปาล ทั้งนี้ ปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกาฐมาณฑุ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและการแปรรูปการเกษตร
การท่องเที่ยว ไทยยินดีที่เนปาลที่สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเนปาลอย่างต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในเส้นทางแสวงบุญทางพระพุทธศาสนา (Buddhist circuit) ซึ่งต่างเห็นพ้องที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาที่มีศักยภาพสูง ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยมีศักยภาพด้านการให้บริการทางการแพทย์ มีคุณภาพระดับสากล และพร้อมเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่สำคัญของภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีเนปาลกล่าวว่า เนปาลพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ทางการแพทย์ร่วมกันไทย รวมไปถึงความร่วมมือด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งมีความก้าวหน้า โดยปัจจุบันผู้ประกอบการโรงแรมของไทยได้ขยายธุรกิจโรงแรมในเนปาล ซึ่งช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเนปาล
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา นายกรัฐมนตรียินดีที่นักศึกษาเนปาลมาเรียนที่ไทยจำนวนมาก โดยเน้นย้ำว่าไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และไทยพร้อมมอบทุนการศึกษาสำหรับหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นและปริญญามหาวิทยาลัยให้กับชาวเนปาลในสาขาต่าง ๆ ที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น การโรงแรม การเกษตร และสาธารณสุข ขณะที่นายกรัฐมนตรีเนปาลเห็นพ้อง และเน้นย้ำว่าเนปาลต้องการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับไทยเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยขณะนี้เนปาลมีมหาวิทยาลัยที่จัดหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับสาธารณสุข เกษตรกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านอายุรเวท ซึ่งไทยและเนปาลจะสามารถร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความพร้อมในการสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ
ความร่วมมือระดับพหุภาคีและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายพร้อมทำงานร่วมกันในเวทีระดับภูมิภาคและพหุภาคี โดยยึดมั่นในหลักการสันติภาพและมิตรภาพกับทุกประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับโลก ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการผลักดันความร่วมมือในเวทีพหุภาคีและภูมิภาคกับเนปาล โดยเฉพาะการประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 6 ซึ่งจะรับรองวิสัยทัศน์กรุงเทพ (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) รวมถึงพร้อมผลักดันความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลที่จะเพิ่มการเชื่อมโยงและโอกาสทางเศรษฐกิจในอ่าวเบงกอล นอกจากนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับเนปาลแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี สอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีเนปาล ซึ่งเผยว่า เนปาลกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก "Sagamatha Sambaad" ซึ่งเป็นการเสวนาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ไทย-เนปาล ยกระดับความร่วมมือ ลงนาม 8 ฉบับ
เวลา 11.40 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายเค พี ศรรมะ โอลี (Rt. Hon. Mr. K. P. Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีเนปาล ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและการแลกเปลี่ยนความตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จำนวน 8 ฉบับ ดังนี้
1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวไทย - เนปาล
2.ความตกลงทางวัฒนธรรม ไทย - เนปาล
3.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าเนปาล (Nepal Chamber of Commerce)
4.บันทึกความเข้าใจระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบัน Nepal Netra Jyoti Sangh (NNJS)
5.บันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับบริษัท Jantra Agro and Forestry
6.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสยามกับมหาวิทยาลัยกาฐมาณฑุ
7.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์หอการค้าและ อุตสาหกรรมแห่งเนปาล (Federation of Nepalese Chambers of Commerce & Industry: FNCCI)
8.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งเนปาล (Confederation of Nepali Industries: CNI)
หลังจากนั้น เวลา 11.50 น. นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเนปาล ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยสรุปสาระสำคัญของการแถลงข่าวดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับผู้นำเนปาลและคณะเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเยือนครั้งแรกในรอบ 66 ปี ไทยและเนปาลมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมายาวนาน มีรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน การเยือนครั้งนี้จะช่วยกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้น และเปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับความร่วมมือในอนาคต
ทั้งสองฝ่ายได้หารือในด้านพลังงาน โดยไทยชื่นชมเนปาลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเสริมสร้างความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ลดอุปสรรคทางการค้า และพัฒนาข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และไทยสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนในตลาดเนปาลมากขึ้น
ด้านการเชื่อมโยง ทั้งสองฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของการขยายเส้นทางคมนาคมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สนับสนุนการขยายเส้นทางการบินเชื่อมต่อกรุงเทพฯ - กาฐมาณฑุ พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้เปิดเที่ยวบินตรงสู่ลุมพินี
ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ไทยและเนปาลเห็นพ้องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและการแพทย์ นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาล และสายการบิน ต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเนปาล
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีทั้งสองยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือสำคัญจำนวน 8 ฉบับ ซึ่งเสริมสร้างความร่วมมือ และความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรียังขอบคุณเนปาลที่สนับสนุนไทยในฐานะประธาน BIMSTEC และยืนยันความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับ BIMSTEC อย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกรอบการประชุม และผลักดัน BIMSTEC ให้เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค
ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความตั้งใจในการเสริมสร้างความร่วมมือกับเนปาลทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เคารพซึ่งกันและกัน พร้อมมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อความมั่งคั่งและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ การมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและความตั้งใจของไทย-เนปาล ในการเดินหน้าความร่วมมือในทุกมิติ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว