In News
ปิดฉาก!ถกBIMSTECด้วยผลลัพธ์6ฉบับ ตั้งธง'PRO BIMSTEC'ให้สำเร็จปี2573

กรุงเทพฯ-เริ่มแล้วประชุม 7 ชาติ ในความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล BIMSTEC ผู้นำทุกประเทศหารือแบบตัวต่อตัวในรอบ7ปี ครั้งแรก พร้อมหนุนกระชับความร่วมมือเศรษฐกิจในกลุ่มประชาชนร่วมกันกว่า 1,800 ล้านคน ขณะที่เมียนมาเดินหน้าแก้ปัญหาทุกมิติร่วมกันกับไทย ทั้งอาชญากรรมข้ามชาติ คอลเซ็นเตอร์ และการป้องกันวาตภัยด้วยการเร่งขุดลอกแม่น้ำในภาคเหนือพรมแดนไทยเมียนมา หลังจากนั้นนายกฯได้เปิด “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030" นายกฯแพทองธาร ประธานการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 กล่าวถ้อยแถลงกระชับความร่วมมือร่วมกันสร้างภูมิภาคที่เจริญรุ่งเรืองและเปิดกว้างเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและพร้อมรับมือต่อภัยพิบัติของประชาชน กว่า 1,800 ล้านคน ในทุกประเทศสมาชิก และปิดฉากอย่างสวยงาม กับการเป็นเจ้าภาพ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ด้วยความสำเร็จ! ที่ประชุมฯ รับรองเอกสารผลลัพธ์ 6 ฉบับ ปูทางสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
ประชุม7ชาติในความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล BIMSTEC
วันนี้ (วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568) เวลา 08.00 น. ที่ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกแบบตัวต่อตัว ในรอบ 7 ปี
โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้นำทั้ง 7 รวมทั้งไทยเข้าร่วมประชุมได้แก่ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส (His Excellency Professor Muhammad Yunus) ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (Chief Adviser of the Government of the People’s Republic of Bangladesh) นาย ดาโช เชริง โตบเกย์ (His Excellency Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน (Prime Minister of the Kingdom of Bhutan) นายนเรนทร โมที (His Excellency Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย (Prime Minister of the Republic of India) พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ (His Excellency Senior General Min Aung Hlaing) ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Chairman of the State Administration Council, Prime Minister of the Republic of the Union of Myanmar) นายเค พี ศรรมะ โอลี (Rt. Hon. Mr. K P Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีแห่งเนปาล (Prime Minister of Nepal) ดร. หริณี อมรสุริยะ (Her Excellency Dr. Harini Amarasuriya) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (Prime Minister of the Democratic Socialist Republic of Sri Lanka) และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร (Her Excellency Miss Paetongtarn Shinawatra) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย (Prime Minister of the Kingdom of Thailand)
ก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับ พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ (Min Aung Hlaing) นายกรัฐมนตรีเมียนมา โดยได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิ่งของแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งได้จัดส่งถึงเมียนมาแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
ในโอกาสนี้ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือครอบคลุมทั้งความร่วมมือด้านการป้องกันพิบัติภัย ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยจากมนุษย์ รวมทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด และการลักลอบการค้าที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะความร่วมมือ ในการปราบปรามแก๊ง call center และขบวนการ online scam รวมทั้งประสานเหยื่อผู้ถูกหลอกลวงกลับประเทศ ซึ่งมาตรการที่เด็ดขาดของประเทศไทย ทำให้การส่งข้อความและการโทรศัพท์หลอกลวง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธารกล่าวว่า ได้สั่งการหน่วยความมั่นคงให้มีการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่าย ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินการในการเดินหน้าตาม“ยุทธศาสตร์ฟ้าใส ”(Clear Sky Strategy) เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขไฟป่า ฝุ่นละออง และหมอกควัน โดยมีสมาชิก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก จุดความร้อน และปัญหาฝุ่น ควันลดน้อยลง นอกจากนี้ ไทยและเมียนมา ยังได้ร่วมกันเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมด้วยการเร่งขุดลอก รื้อถอน สิ่งกีดขวางทางน้ำในแหล่งน้ำ และแม่น้ำระหว่างสองประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ก่อนฤดูฝนในปีนี้
ทั้งนี้ ประเทศไทยและเมียนมา จะร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้ทางการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรสมัยใหม่ เช่นข้าวโพด ให้มีผลผลิตมากขึ้น ให้ทำลายธรรมชาติน้อยลง และลดการเผาพืช รวมทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ ไก่ โค สุกร ซึ่งจะสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นด้วย
โดยความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจหรือบิมสเทค (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC) ครั้งนี้ เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และเป็นการริเริ่มและผลักดันของไทย ตามนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy)
ปัจจุบัน บิมสเทคมีความร่วมมือ 7 สาขา (1) การค้า การลงทุน และการพัฒนา (2) สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) ความมั่นคง (4) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (5) การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน (6) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
และ (7) ความเชื่อมโยง ไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกา ซึ่งผู้นำทุกประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง สะท้อนถึงการยึดมั่นในพันธสัญญาที่ทุกประเทศร่วมกันในฐานะสมาชิก ที่มีประชากรทั้งหมดราว 1,800 ล้านคน ซึ่งเป็นพลังและความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องมีความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ
นายกฯเปิด“วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ2030"ประชุมผู้นำBIMSTECครั้งที่6
ช่วงเวลา 11.00 น. ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 6 พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC จากอินเดีย เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา เมียนมา บังกลาเทศ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย พร้อมขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกสู่การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 โดยเป็นความภาคภูมิใจของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม หลังจากที่ไม่ได้จัดการประชุมแบบพบหน้ากันมาเป็นเวลากว่า 7 ปี ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และหารือแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในกลุ่มสมาชิก BIMSTEC
ทั้งนี้ BIMSTEC เป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมกันกว่า 1,800 ล้านคน หรือคิดเป็น 22% ของประชากรโลก และมี GDP รวมกันประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ความร่วมมือนี้ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนในอนาคต
ประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอในที่ประชุมคือ "วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030" ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือ ที่จะนำประเทศสมาชิก BIMSTEC ไปสู่อนาคตที่มีความเจริญรุ่งเรือง ยืดหยุ่น และเปิดกว้าง วิสัยทัศน์นี้ถูกออกแบบเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ส่งเสริมความเชื่อมโยง และการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับปัญหาระดับโลก
ด้านความเจริญรุ่งเรืองของ BIMSTEC นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของ BIMSTEC ด้วยจำนวนประชากร รวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลก การค้าภายใน BIMSTEC อยู่ที่ประมาณ 6% จึงเสนอให้สมาชิกเร่งผลักดันการจัดทำ BIMSTEC FTA ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า
นอกจากนี้ การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล จะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่โครงการ Landbridge ของไทยจะช่วยเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับอ่าวเบงกอลด้วย
ทั้งนี้ประเทศไทยยังมุ่งมั่นร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงสำคัญระหว่างประเทศที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยไปยัง เมียนมาจนถึงอินเดียให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของโครงการนี้ นอกจากนี้ สันติภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัน และเสถียรภาพ ตามเส้นทางดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ ซึ่งไทยพร้อมทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้
นอกจากนี้ BIMSTEC จำเป็นต้องเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและความสามารถทางเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และการเชื่อมต่อทางดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาเร่งด่วน และเตรียมความพร้อมของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต
ด้านความยืดหยุ่น ความท้าทายระดับโลก เช่น มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด ทำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบสาธารณสุขและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ ไทยได้เสนอจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์เขตร้อน” ของ BIMSTEC
นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อจัดการภัยพิบัติในกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งไทยสนับสนุนข้อเสนอของอินเดียในการจัดตั้ง “ศูนย์จัดการภัยพิบัติ BIMSTEC” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัย พร้อมสนับสนุนการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือการจัดการภัยพิบัติของ BIMSTEC ครั้งที่ 2 เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยธรรมชาติ
โอกาสนี้ ไทยยังเน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการดำเนินการตามอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด เพื่อยกระดับความมั่นคงในภูมิภาคและความยืดหยุ่นพร้อมต่อการตอบสนองต่อภัยพัติ
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาค SMEs จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตของ BIMSTEC โดยประเทศไทยได้เสนอจัดตั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจ BIMSTEC (BIMSTEC Business Advisory Council) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจ สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงชุมชนที่ถูกมองข้าม ผู้หญิง และเยาวชน โดยยกตัวอย่างการจัดงาน "BIMSTEC Young Gen Forum" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ ICONSIAM กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ในการแลกเปลี่ยนแนวคิดและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนใน BIMSTEC โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจร่วมกัน และเน้นย้ำถึงบทบาทของ BIMSTEC ในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน โดยประเทศไทยในฐานะประธานปัจจุบันของกรอบ Asia Cooperation Dialogue (ACD) มุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง BIMSTEC กับเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค
ในช่วงท้าย ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทคครั้งที่ 6 นอกจากนี้ ยังมีการประกาศให้บังกลาเทศเป็นประธาน BIMSTEC ลำดับถัดไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าบังกลาเทศจะนำพา BIMSTEC ไปสู่ความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต
ปิดฉากอย่างสวยงามประชุม BIMSTECด้วยผลลัพธ์6ฉบับ
ช่วงเวลา 13.00 น. ณ ห้อง Ballroom 3 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 (The 6th BIMSTEC Summit) โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ไทยเป็นประธานฯ คือการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 1 ในปี 2547 ถือเป็นการนำบิมสเทคกลับมาสู่บ้าน และเป็นโอกาสต่อยอดจากรากฐานที่วางไว้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยแนวคิดหลักของไทยในฐานะประธานฯ มุ่งให้ “บิมสเทคมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” (Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC) หรือ “PRO BIMSTEC” โดยบิมสเทคจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกันในระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อม การบรรเทาและฟื้นฟูประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งกลไกให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยใช้ประสบการณ์จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีประกาศว่า ผู้นำบิมสเทคได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุมฯ 6 ฉบับ ได้แก่
1) วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ฉบับแรกของบิมสเทคที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง “PRO BIMSTEC” ให้สำเร็จภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยให้บิมสเทคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ อื่น ๆ ได้อย่างแข็งขันยิ่งขึ้น โดยเน้นการเสริมสร้างการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์
2) ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 เน้นย้ำเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนบิมสเทคเพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
3) กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค ซึ่งทำให้บิมสเทคเป็นกรอบความร่วมมือที่มีกฎระเบียบอ้างอิงมากขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการดำเนินงานของบิมสเทค
4) รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ซึ่งนำเสนอข้อเสนอแนะสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
5) การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการค้า และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน
6) แถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทคว่าด้วยผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งแสดงถึงความเสียใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนสะท้อนถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในการบริหารจัดการภัยพิบัติและการเสริมสร้างกลไกตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ผลลัพธ์จากการประชุมในครั้งนี้นำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนไทย โดยช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออก สร้างโอกาสทางการตลาดและการลงทุน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนผ่านความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยและการจ้างงาน โดยผลลัพธ์เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงช่วงก่อนการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้การต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำประเทศสมาชิกบิมสเทค โดยในวันที่ 2 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีให้การต้อนรับ นายเค พี ศรรมะ โอลี (Rt. Hon. Mr. K P Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีเนปาลเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยการหารือระหว่างทั้งสองฝ่ายครอบคลุมความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ การค้าและเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ การเกษตร การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเนปาลที่ไทยให้การสนับสนุนมามากกว่า 50 ปี รวมถึงมีการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 8 ฉบับ ในระหว่างการเยือนฯ ครั้งนี้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้การต้อนรับนายนเรนทร โมที (H.E. Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 3 – 4 เมษายน 2568 โดยผู้นำทั้งสองได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ พร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน อาทิ การเมืองและความมั่นคง การค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยง วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา (Buddhist Circuit) และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมทั้งมีการลงนามปฏิญญาและบันทึกความเข้าใจร่วมกันหลายฉบับ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับประเทศสมาชิกบิมสเทค สำหรับความสำเร็จของการประชุมผู้นำฯ ในวันนี้ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของบังกลาเทศ บิมสเทคจะสืบสานความสำเร็จต่อไป