In News

ดีอีเตือนข่าวปลอม'สัญญาณเตือนสึนามิ' แผ่นดินไหวอินโดฯ/หวั่นทำสังคมสับสน



กรุงเทพฯ-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “สัญญาณเตือนสึนามิ! น้ำทะเลภูเก็ตลดฮวบ หลังแผ่นดินไหวเกาะสุมาตรา” รองลงมาคือเรื่อง “เตือน! เฝ้าระวังอาจจะเกิดสึนามิ เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก วิตกกังวล เกิดความสับสนในสังคม

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 3 เมษายน 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 837,077  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 599 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 584 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 11 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 174 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 82 เรื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 69 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 23 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 23 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 2 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 11 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องของภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว และเหตุการณ์ต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง สัญญาณเตือนสึนามิ! น้ำทะเลภูเก็ตลดฮวบ หลังแผ่นดินไหวเกาะสุมาตรา

อันดับที่ 2 : เรื่อง เตือน! เฝ้าระวังอาจจะเกิดสึนามิ เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว

อันดับที่ 3 : เรื่อง เตือนภัยสมุทรปราการ อาจเกิดสึนามิ

อันดับที่ 4 : เรื่อง อีก 50 ปี รอยเลื่อนสะกายอาจขยับ เสี่ยงแผ่นดินไหวใหญ่ในไทย

อันดับที่ 5 : เรื่อง เลี่ยงใช้เส้นทางสะพานพระราม 9 และสะพานพระราม 3 เนื่องจากสะพานถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว

อันดับที่ 6 : เรื่อง อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ เอียงและทรุดตัว

อันดับที่ 7 : เรื่อง สะพานพระราม 9 ถล่มแล้วจากเหตุแผ่นดินไหว

อันดับที่ 8 : เรื่อง อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสินเกิดการเอียงทรุดตัว

อันดับที่ 9 : เรื่อง พบเครื่องบินรบ F5E เหนือน่านฟ้า จ.สุรินทร์ มุ่งหน้าไปทางกัมพูชา

อันดับที่ 10 : เรื่อง สั่งคนอพยพจากตึกสูง เพราะแผ่นดินไหว รอบที่ 2

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของภัยพิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดิน ซึ่งเป็นทำให้เกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิด ความสับสนในสังคม โดยหากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม มีผลทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง” นายเวทางค์ กล่าว

สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “สัญญาณเตือนสึนามิ! น้ำทะเลภูเก็ตลดฮวบ หลังแผ่นดินไหวเกาะสุมาตรา” กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยยังไม่มีรายงานเหตุแผ่นดินไหวใดที่ส่งผลให้เกิดสึนามิ ข่าวดังกล่าวไม่ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนข้อมูลนี้ สำหรับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอาจเกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติอื่น เช่น กระแสน้ำขึ้น-น้ำลง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวหรือสึนามิ

ในส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “เตือน! เฝ้าระวังอาจจะเกิดสึนามิ เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว” กระทรวงดีอี  โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า หากเกิดแผ่นดินไหวบนบก จะไม่ก่อให้เกิดสึนามิแต่อย่างใด โดยขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากทางราชการ อย่าตื่นตระหนกกับข่าวลือจากแหล่งข่าวที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้หากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ตลอด 24 ชม. หรือ ตามช่อง https://earthquake.tmd.go.th , Facebook Earthquake TMD, Application EarthquakeTMD สายด่วน 1182, Hotline 24hr. 02-399-4547

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความวิตกกังวล หรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)|  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com