Biz news

พบคนไทยป่วยโรคกระดูกและข้อเสื่อมสูง แพทย์เตือนภัยเงียบที่มาก่อนวัยชรา



กรุงเทพฯ-โรงพยาบาลเอส สไปน์ เตือน ! ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลกระดูกและข้อ ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเสื่อมก่อนวัยอันควร แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันและ รักษาภาวะนี้

โรคกระดูกและข้อเสื่อม เป็นภาวะที่หลายคนมักเชื่อว่าเกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยโดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเสื่อมของกระดูกและข้อก่อนวัยอันควร

จากสถิติของโรงพยาบาลเอส สไปน์ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังแห่งแรกในประเทศไทย พบว่าตลอด 8 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยเรื่องกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและวัยกลางคน นอกจากนี้ ยังพบว่าปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่ที่บริเวณหลังส่วนล่างเหมือนเมื่อก่อน แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใน กระดูกสันหลังส่วนคอและข้อกระดูก ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบัน

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพบว่า หลายคนมีพฤติกรรมที่เป็นตัวเร่งให้กระดูกและข้อเสื่อมโดยไม่รู้ตัว ได้แก่

1. นั่งทำงานเป็นเวลานานโดยไม่ขยับตัว

ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่ลุกขึ้นขยับตัว ทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังอ่อนแรงลง แรงกดที่หมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้น และกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้นที่สำคัญ หลายคนเผลอนั่งหลังค่อม ไหล่ห่อ หรือโน้มตัวไปข้างหน้า ซึ่งเป็นท่านั่งที่ทำให้กระดูกสันหลังต้องรับแรงกดมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

2. ยกของหนักผิดวิธี

การก้มยกของหนักโดยใช้กล้ามเนื้อหลัง แทนที่จะใช้กำลังจากขา เป็นสาเหตุของภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อน

หรือกดทับเส้นประสาทที่พบได้บ่อย วิธีที่ถูกต้องในการยกของคือ ให้ย่อตัวลง ใช้ขางอเข่า แล้วยกของขึ้นโดยให้หลังตรง วิธีนี้จะช่วยลดแรงกดที่กระดูกสันหลังได้อย่างมาก

3. พฤติกรรมที่มีแรงกระแทกสะสมในชีวิตประจำวัน

กิจกรรมบางอย่างอาจทำให้กระดูกสันหลังได้รับแรงกระแทกโดยไม่รู้ตัว เช่น การนั่งรถที่โช๊คอัพไม่ดี หรือการนั่งเรือเร็วที่มีแรงกระแทกสูง สิ่งเหล่านี้ทำให้แรงสะสมที่ข้อต่อเพิ่มขึ้น และเร่งให้เกิดภาวะกระดูกเสื่อมได้เร็วขึ้น

4. การนั่งผิดท่า

การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือคุกเข่า ทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดมากกว่าปกติ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น

5. การใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไป

"Text Neck Syndrome" หรือภาวะกระดูกคอเสื่อมจากการก้มมองหน้าจอเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ก้มมองจอมือถือ กระดูกคอจะต้องรับน้ำหนักศีรษะมากกว่าปกติหลายเท่า หากทำบ่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคออ่อนล้า และนำไปสู่ภาวะกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคกระดูกสันหลังสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมในชีวิตประจำวัน เช่นปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ,ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงกระดูก และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ  แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วยังมีอาการปวดเรื้อรัง การค้นหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ โดยมี 2 แบบตามอาการ

1.การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ทำกายภาพบำบัด เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเสริมความแข็งแรงของหลัง  การใช้ยาลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการปวด

2.การรักษาด้วยการผ่าตัด โรงพยาบาลเอส สไปน์ มีวิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก เรียกว่าเทคโนโลยี MIS (Minimally Invasive Spine Surgery)  เช่น การจี้เลเซอร์ รักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เทคนิค PSCD รักษาอาการปวดคอร้าวลงแขนที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ และเทคนิค PSLD รักษาโรคหมอนรองกระดูกส่วนหลังตีบแคบหรือปลิ้นทับเส้นประสาท ช่วยลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย เจ็บปวดหลังการผ่าตัดลดลง และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืน และเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังและข้อที่เพิ่มขึ้นในอนาคต  โรงพยาบาลเอส สไปน์ จึงขยายการให้บริการดูแลด้านสุขภาพให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเตรียมเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและข้อ ที่ยังคงมุ่งเน้นทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อการรักษาอย่างเต็มรูปแบบ