In News
กต.พิจารณาให้ขรก.ตุลาการพักราชการ
กรุงงเทพฯ-ยุติธรรม (ก.ต.) ได้พิจารณาวาระการให้ข้าราชการตุลาการพักราชการ
วันนี้ (5 กรกฎาคม 2564) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมเปิดเผยว่า สำนักคณะกรรมการศาลยุติธรรม แจ้งว่า ช่วงเช้าของวันนี้มีการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)ครั้งที่ 15/2564 โดยวาระที่ 5.1 เรื่องการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ วาระ 1 ตุลาคม 2564
สำหรับบัญชีผู้พิพากษาอาวุโส นั้น ที่ประชุมได้พิจารณา ความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส กรณีนายปรเมศร์ โตวิวัฒน์ ขอดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564แต่เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุม ก.ต. พ.ศ. 2543 กำหนดให้กรณีที่มีการอภิปรายไปในทางที่
เป็นผลร้ายแก่บุคคลใด ที่ประชุมจะลงมติไปในทางที่เป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้นทันทีมิได้ และจะต้องจัดให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น รวมทั้งให้โอกาสบุคคลนั้นชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน ที่ประชุม ก.ต.จึงมีมติให้ดำเนินการตามข้อบังคับดังกล่าวก่อนที่จะพิจารณาและลงมติ
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับกรณีนายปรเมศร์ โตวิวัฒน์ในการพิจารณาของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา นั้นสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม แจ้งรายละเอียดว่า ในการประชุมครั้งที่ 14/2564 ในนัดนั้น
ที่ประชุม ก.ต. ได้พิจารณาวาระเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตุลาการพักราชการ (กรณีนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1) ซึ่งเมื่อถึงการประชุมวาระดังกล่าว ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีที่
นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เสนอขอมติต่อที่ประชุม ก.ต. ให้พิจารณาในประเด็นที่นางเมทินี ชโลธร ประธาน ก.ต. ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาอีกตำแหน่งหนึ่ง ถูกนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ ยื่นฟ้องการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานศาลฎีกาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 45 กำหนดไว้อันจะทำให้ต้องห้ามมิให้เข้าร่วมประชุมและลงมติในวาระการประชุมเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งระหว่างการพิจารณาประเด็นนี้นางเมทินี ได้ออกจากห้องประชุม ก.ต.ที่มีอาวุโสสูงสุดจึงทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมแทน ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า นางเมทินี ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณากรณีนายปรเมษฐ์ นางเมทินีจึงกลับเข้ามาร่วมประชุมตามที่ ก.ต. ได้พิจารณา
และมีมติด้วยเสียงข้างมาก และได้พิจารณาวาระดังกล่าวไปตามระเบียบวาระการประชุมต่อไป ซึ่งในการพิจารณาและลงมติของ ก.ต. มาตรา 45 ดังกล่าวได้กำหนดบังคับไว้ด้วยว่าห้ามมิให้ ก.ต. ที่เข้าร่วมประชุมงดออกเสียง ดังนั้น ก.ต.ทุกคนที่เข้าร่วมประชุมรวมทั้งนางเมทินี จึงมีหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงให้ต้องลงมติในวาระดังกล่าวและจะงดออกเสียงมิได้ ด้วยเหตุนี้ การประชุมในวาระข้างต้นและการลงมติของ ก.ต. ทุกคนจึงเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว