ECO & ESG
สกลนครถกเข้มแนวทางจัดการอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำเน้นประโยชน์และต่อยอด

สกลนคร-เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ หอประชุม เทศบาลตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ภายใต้ โครงการศึกษา เพื่อหาแนวทางและโอกาสในการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติจากน้ำและเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำได้อย่างเท่าเทียมกันทุกภาคส่วน (โครงการ MTT-SOS) วันที่ 5-8 เมษายน 2568 นำโดย ดร.ริดิ เซลูจา ตำแหน่งนักวิจัยอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ภูมิภาคเอเชีย ผู้จัดการโครงการวิจัย MTT-SOS ประเทศไทย และสปป ลาว ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการวิจัย MTT-SOS ฝ่ายไทย
ด้วยสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ได้ร่วมกันจัดทำโครงการศึกษา เพื่อหาแนวทางและโอกาสในการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติจากน้ำและเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำได้อย่างเท่าเทียมกันทุกภาคส่วน โดยได้รับการสนับสนุนทุนดำเนินการโดย กระทรวงการค้าและการต่างประเทศ ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการศึกษาในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยพื้นที่ศึกษาในประเทศไทย ได้แก่หนองหาร เขื่อนน้ำพุง เขื่อนน้ำอูน ลำน้ำก่ำ และลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ใน สปป. ลาวพื้นที่ศึกษาได้แก่ เขื่อนน้ำเทิน 1 เขื่อนน้ำเทิน 2 และลำน้ำเซบังไฟ โดยได้ดำเนินการศึกษา ตั้งแต่ เดือน กรกฎาคม 2567- กรกฎาคม 2568 ในส่วนของประเทศไทย หน่วยงานร่วมดำเนินการ ได้มอบให้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบศึกษาในระดับพื้นที่ทั้ง 5 สถานที่
ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมฯ มีความต้องการข้อมูลและข้อคิดเห็น ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่ทั้ง 5 แหล่งน้ำ โดยเฉพาะประเด็น การพึ่งพาแหล่งน้ำ ผลกระทบจากภัยพิบัติในอดีตและปัจจุบัน การเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ จึงมีความประสงค์จะจัดกิจกรรมการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ขึ้นในพื้นที่ 5 แหล่งน้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำไปวิเคราะห์ จัดทำข้อเสนอแนะในระดับนโยบายการบริหารจัดการแหล่งน้ำของประเทศไทยและภูมิภาคแม่น้ำโขงต่อไป
โดย ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง กล่าวว่า สำหรับการสนทนากลุ่มย่อยหนองหารในวันนี้ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลายประเด็น อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครเปลี่ยนบ่อย เมื่อผู้ว่าราชการคนใหม่มาก็ต้องมาศึกษาข้อมูลใหม่อีกครั้งซึ่งอาจทำให้ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนา ส่วนอีกเรื่องคือการขาดแคลนน้ำของประชาชนที่อยู่ปลายน้ำ รวมไปถึงเรื่องทางด้านเทคนิคกำลังมีแนวคิดจะพัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์น้ำท่วมน้ำแล้งของหนองหารล่วงหน้า เพราะอาจจะช่วยบริหารจัดการน้ำได้กว่าปัจจุบันหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าผู้ใหญ่จะยังไม่ให้ความสำคัญในเชิงนโยบายด้านนี้สักเท่าไหร่ ที่กล่าวมาข้างต้นคือสิ่งที่ได้มีการหยิบยกมาพูดคุยกันระหว่างเสวนากลุ่มย่อยน้ำหนองหารในวันนี้
ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง กล่าวต่ออีกว่า สำหรับโครงการนี้ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง โดยโครงการจะมีการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลประเทศไทย-ลาว การจัดการแหล่งน้ำประเภทเขื่อน พื้นที่ชุ่มน้ำ ว่าควรจัดการหรือมีนโยบายอย่างไรได้บ้าง ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำเพิ่งได้รับมอบหมายเข้ามาดูแลจัดการน้ำได้ไม่นาน ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะมีประสบการณ์ไม่มากพอ โดยโครงการนี้จะให้ข้อเสนอแนะแนวคิดรวมไปถึงแนวทางในการจัดการบริหารน้ำต่อผู้บริหาร เช่น น้ำหนองหาร หรือเขื่อนน้ำอูน ที่อยู่ในสังกัดของกรมชลประทานซึ่งเชื่อว่าข้อมูลต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งน้ำให้ยั่งยืนต่อไป.