In Bangkok
เดินหน้ายกซากถล่มลดความสูงเปิดฐาน ผู้ว่าฯชัชชาติยังหวังลึกๆมีผู้รอดชีวิต

กรุงเทพฯ-กทม. ไม่หยุดเดินหน้า ขนซากถล่มแล้ว 21 คันรถบรรทุก ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังหวังมีผู้รอดชีวิต - กำชับสุขอนามัยเจ้าหน้าที่
(9 เม.ย. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนเข้าประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2568 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง โดยกล่าวถึงการดำเนินงานรื้อถอนซากอาคาร สตง. ถล่ม ต่อจากนี้ว่า การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่องจากเป้าหมายภารกิจ คือการเอาแผ่นปูน และเศษปูนที่อยู่โซน E ซึ่งอยู่ยอดบน ลงมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งเครื่องจักรหนักทำงานเต็มที่ ตอนนี้ขนย้ายเศษซากออกมาได้ประมาณ 26,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้รถบรรทุกนำออก 21 คัน คาดว่าประมาณปลายเดือนเมษายน จะสามารถเคลียร์ในส่วนของด้านบนออกได้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำว่า เรื่องความหวังของผู้รอดชีวิตเรามีอยู่ตลอด เครื่องจักรเราทำงานตลอด ในส่วนของเจ้าหน้าที่ทุกคน ทางกรุงเทพมหานครดูแลอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องอาหาร ที่พักผ่อนมีห้องแอร์ให้นอน และเรื่องสุขอนามัยก็ต้องเข้มข้นขึ้น ต้องมีการล้างมือ และการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ เพราะในพื้นที่หน้างานเปรียบเสมือนเมือง ๆ หนึ่ง มีคนเป็นร้อยคนอยู่ในนั้น เรื่องความสะอาดและสุขอนามัยก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล ทั้งนี้ ทางทีมสำนักอนามัยได้เข้าไปตรวจอยู่ตลอด เพื่อให้ทีมงานทุกคนปลอดภัย ส่วนเรื่องการถอนตัวของทีม USAR และ K9 ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน เพราะเป็นไปตามแผนอยู่แล้ว ตอนนี้เครื่องจักรหนักก็เป็นหลักและทำงานอยู่ตลอดเวลา
เดินหน้ายกซากถล่มลดความสูงเปิดฐาน
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เขตจตุจักร ว่า การปฏิบัติงาน ณ ขณะนี้ คือ เครื่องจักรเปิดหน้างานพื้นที่ B3 และ C2 เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นโถงสำหรับคนงานรับประทานอาหาร และเก็บของใช้ส่วนตัว ประเมินว่าขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวคนงานอาจกลับไปเก็บสิ่งของใช้ส่วนตัว และมีการใช้เครื่องจักรใหญ่ขึ้นที่จุด A และ D ทำการเคลื่นย้ายวัสดุเพื่อลดความสูงที่จุด E ทีม USAR จัดเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมประจำพื้นที่ หากพบร่างผู้เสียชีวิตจะเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ หรือหากพบสิ่งผิดปกติ จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ต่อไป นอกจากนี้มีการใช้ K9 สะกดรอย (ทำการค้นหาร่างผู้เสียชีวิต) สำหรับยอดผู้ประสบเหตุ 103 ราย เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 9 ราย อยู่ระหว่างติดตาม 72 ราย
ส่วนการแจ้งเหตุอาคารมีรอยร้าวจากประชาชนใน Traffy Fondue รวมทั้งสิ้น 19,020 เคส แบ่งเป็น ปลอดภัยต่อการใช้งาน (เขียว) 17,210 เคส เหลือง 387 เคส สีแดง 34 เคส (2 อาคาร) อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 1,389 เคส ทั้งนี้ มีหนังสือแจ้งเข้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร ให้ดำเนินการประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าตรวจสอบ โดยแจ้งเจ้าของอาคารแล้วกว่า 5,000 โครงการ แจ้งว่าปลอดภัยต่อการใช้งานสะสม 2,740 โครงการ รายงานซ่อมแซมเฉพาะจุด 160 โครงการ และมีหนังสือแจ้งเข้าของอาคาร ผู้รับเหมาให้ระงับการใช้เครน จนกว่าจะมีการตรวจสอบ ซึ่งเครนมีจำนวน 201 โครงการ รายงานว่าปลอดภัยแล้ว 123 โครงการ
ด้านการดูแลช่วยเหลือประชาชน และการเยียวยา/การช่วยเหลือ สถานะล่าสุด ยอดรวมที่ดำเนินการลงเบียนกับ Airbnb แล้ว จำนวน 613 ครัวเรือน 1. คอนโดไลฟ์ ลาดพร้าว แวลลีย์ เขตจตุจักร - คอนโดสกายไรส์ อเวนิว สุขุมวิท 64 เขตพระโนขง จำนวน 436 ครัวเรือน 2. คอนโด/ที่พักอื่นๆ คัดเลือกจากกลุ่มเปราะบาง และความจำเป็น เช่น ผู้ประสบภัยที่เข้าอาคารไม่ได้ อาศัยอยู่จริงก่อนเกิดเหตุ แผ่นดินไหว คนพิการ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ดูแลบุคคลที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ขาดความสามารถ ในการหาที่อยู่ โรคประจำตัว รายได้ อาชีพ จำนวนคนในครัวเรือน เป็นต้น จำนวน 177 ครัวเรือน รวมทั้งศูนย์พักพิง โรงเรียนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร รองรับได้ 150 คน ว่าง 150 ที่ และศูนย์พักคอยญาติ เขตจตุจักร จำนวน 1 แห่ง รองรับได้ 82 คน เข้าพัก 70 คน ว่าง 12 ที่
สำหรับการเยียวยาตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 ผู้ประสบภัย สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ทุกแห่ง ภายใน 30 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ (ภายในวันที่ 27 เมษายน 2568) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวก รับแจ้งความที่สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ในเวลาราชการ โดยการประเมินเป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่อไป