In News
นายกฯไทยถกนายกฯมาเลย์จับมือแก้ไข มาตรการภาษีสหรัฐฯและปัญหา3จชต.

กรุงเทพฯ-ไทย-มาเลเซีย จับมือรวมกันในระดับอาเซียนเพื่อรองรับมาตรการภาษีระดับสูงของสหรัฐ ฯเดินหน้าก่อสร้างสะพานโก-ลก แห่งที่ 2 พร้อมตอกย้ำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงแนวชายแดน การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้และนายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังถกผู้นำมาเลย์-ย้ำเดินหน้าสร้างสันติภาพในภาคใต้ เคลียร์ปมภาษีสหรัฐฯ-ไม่ปล่อยมือประเด็นสังคมจับตา
นายกฯไทยจับนายกฯมาเลเซียร่วมแก้มาตรฐานภาษี'ทรัมป์'
วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568) เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสการเยือนประเทศไทยเพื่อการเจรจาทำงาน (Working Visit) และหารือติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือไทย-มาเลเซีย และนายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังถกผู้นำมาเลย์ – ย้ำเดินหน้าสร้างสันติภาพในภาคใต้ เคลียร์ปมภาษีสหรัฐฯ – ไม่ปล่อยมือประเด็นสังคมจับตา
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการหารือดังนี้ นายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียยินดีต่อความสัมพันธ์และความร่วมมืออันยาวนานระหว่างไทย-มาเลเซีย และยินดีที่ไทยและมาเลเซียสามารถลงนามความตกลงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก – ลก โดยจะเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งข้ามแดน รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย
นายกรัฐมนตรีขอบคุณมาเลเซียที่แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไทย และกล่าวชื่นชมบทบาทของมาเลเซียในการประสานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ไทยและมาเลเซีย ยังเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือกับเมียนมาในการจัดการกับปัญหาภัยพิบัติและความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้อง จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมา และเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะนำไปสู่พัฒนาการเชิงบวกในเมียนมาที่สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน
สำหรับประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต่อการยุติการใช้การกระทำที่รุนแรง และส่งเสริมให้มีจัดการพบปะหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยและของกลุ่มที่เห็นต่างในเบื้องต้น (Pre-talk) โดยนายกรัฐมนตรียืนยันความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป และยังกล่าวชื่นชมมาเลเซียซึ่งมีบทบาทนำในองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) หวังว่ามาเลเซียจะช่วยหารือร่างมติที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนใต้กับฝ่ายไทยก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม OIC เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศ ด้านมาเลเซียยืนยันจะไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใช้ประเทศเป็นที่หลบซ่อน และพร้อมให้ความร่วมมือตามกระบวนการยุติธรรมของไทย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความจำเป็นการดำเนินการในระดับประเทศและการยกระดับความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อรับมือกับมาตรการด้านภาษีจากสหรัฐฯ โดยหวังว่าประเทศในอาเซียนจะร่วมกันผลักดันในกรอบอาเซียน เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศ
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงว่าด้วยการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก เชื่อมระหว่างอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยผู้แลกเปลี่ยนฝ่ายไทยคือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับ ดาโตะ อเล็กซานเดอร์ นันตา ลิงกี (Dato Sri Alexander Nanta Linggi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการมาเลเซีย
นายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังถกผู้นำมาเลย์
วันนี้ (วันที่ 17 เมษายน 2568) เวลา 14.40 น. ณ โถงทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการหารือทวิภาคีกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อการเจรจาทำงาน (Working Visit) ซึ่งได้หารือใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่
1) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่สอง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในประมาณปี 2027
2) ด้านความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ขอความร่วมมือทางมาเลเซีย ซึ่งจะเน้นการพัฒนาพื้นที่ เน้นเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอาหารฮาลาล แนวทาง Twin city ไทย-มาเลเซีย ซึ่งต่างเห็นพ้องร่วมกันว่าจะเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เกิดความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น และทั้งสองประเทศต่างไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และต้องการให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ กรณีความคืบหน้าเรื่องการพูดคุยสันติสุขในภาคใต้ คณะทำงานของแต่ละฝ่ายได้ส่งเสริมจัดให้มีการพบปะหารือระหว่างระดับต่าง ๆ เช่น ในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยและกลุ่มต่าง ๆ
3) ประเด็นภาษีสหรัฐฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งได้คุยกันในส่วนของอาเซียนว่าจะสามารถรวมพลังกันได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากอาเซียนมีความแข็งแรง มีประชากรจำนวนมาก อีกทั้งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ด้วย โดยมีการเน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือในอาเซียนในการแก้ไขประเด็นดังกล่าว ซึ่งไทยได้ยืนยันว่า พร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับอาเซียนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ กรณีการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลเน้นการเจรจาที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์กับทั้งสองประเทศเป็นหลัก โดยเน้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน และรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าการหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันที่ 23 เมษายน 2568 นี้ จะเกิดผลดี ขณะเดียวกันรัฐบาลยังได้เตรียมความพร้อม และมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบด้วย และพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนในต่างประเทศด้วย จึงขอให้มั่นใจได้ว่า รัฐบาลดูเรื่องนี้อย่างเต็มที่ทุกมิติ
ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชนต่อกรณีการสืบสวนสาเหตุตึก สตง. ถล่ม นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องผลสอบสวน และในวันพรุ่งนี้ (18 เมษายน 2568) จะนัดเรียกประชุมกับส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยยืนยันว่าจะไม่ปล่อยเรื่องนี้ไป