In Bangkok
เด็กเล็กคือช่วงวัยสำคัญหากได้พัฒนาที่ดี เร่งนำเด็กตกหล่นเข้าสู่ระบบการศึกษา

กรุงเทพฯ-เด็กเล็กเป็นช่วงวัยสำคัญ หากได้รับการพัฒนาที่ดีโตขึ้นก็จะดี รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กำชับเร่งนำเด็กเล็กตกหล่นเข้าสู่ระบบการศึกษา
(18 เม.ย. 68) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมระหว่างผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคมกับหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม 50 สำนักงานเขต ครั้งที่ 1/2568 โดย พญ. วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนายแสนยากร อุ่นมีศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวในที่ประชุมว่า เรื่องแรกที่อยากจะพูดเป็นเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ. โดยสิ่งที่ตั้งใจทำในปีนี้หัวใจน่าจะเป็นการระดมความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งคนที่เข้ามาอ่านร่างกฎหมายแล้วเข้าใจน้อยมากเพราะเป็นภาษากฎหมาย เลยตั้งใจอยากให้เป็นภาษาบ้าน ๆ ที่สุด เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย ในส่วนของเรื่องเด็กเล็กไม่ได้มีแค่ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ แต่ยังมีฝ่ายการศึกษา สำนักการศึกษา และสำนักพัฒนาสังคมด้วย ซึ่งในส่วนของการพัฒนาเด็กปฐมวัย ช่วงที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือช่วง 0 – 8 ปี เพราะมีพัฒนาการที่สูงมาก หัวใจจริง ๆ เลยของชีวิตมนุษย์คือสมองส่วนหน้าในตอนเริ่มต้น ซึ่งจริง ๆ คือ CEO ของร่างกายเรา สั่งทุกเรื่อง คือสมองส่วนหน้า เป็นสมองที่แตกต่างจากสัตว์อื่นในโลก ทำให้มนุษย์มีพัฒนาการที่สูงกว่า ถ้าดูเปอร์เซนต์ของการพัฒนาของสมองจะเห็นว่าช่วง 3 – 6 ปี สำคัญที่สุดของชีวิตเรา แต่จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วิจัยว่า ช่วงอายุ 3 – 5 ปี หลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด คือหมายความว่าไม่อยู่ในระบบการศึกษาที่ดี อาจไม่ได้คุณภาพ หรืออาจจะดูจอทั้งวัน ไม่ได้เข้าโรงเรียน คิดว่าเป็นปัญหาหลัก ซึ่งถ้าดูจากประเทศทางแถบยุโรปจะดูแลเรื่องเด็กเล็กดีที่สุด ซึ่งเขาเชื่อว่าถ้าเด็กเล็กดีตอนโตก็จะดี
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวด้วยว่า ถ้าเอาตัวเลขจากทะเบียนราษฎร์ที่มีคนเกิดประมาณปีละ 50,000 คน นับช่วงอายุ 0 – 6 ปี ก็จะมีประมาณไม่เกิน 300,000 คน ซึ่งการนับจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนเอกชนแล้วนับได้ประมาณ 70,000 คน เทียบแล้วประมาณ 1 ใน 4 คนที่อยู่ในโรงเรียน ซึ่งไม่รู้ว่าอีก 3 คนอยู่ไหน เป็นปัญหาที่วิกฤติมาก ซึ่งจากนโยบายได้ดำเนินการไปแล้วเกินครึ่ง โดยจะต้องดึงเด็กเข้าระบบให้เร็วขึ้น และเด็กต้องอยู่ในสถานภาพหรือคุณภาพที่ดีขึ้น ศูนย์เด็กต้องดี โรงเรียนต้องดี เลยมีการสรุปมาเป็น 8 นโยบาย ได้แก่ 1. แจกหนังสือนิทาน 3 เล่มสำหรับเด็กแรกเกิดใน 8 โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 2. เข้าเรียนได้เร็วขึ้น ขยายชั้นเรียนอนุบาล 3 ขวบ ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 3. ปรับปรุงกายภาพให้ได้มาตรฐาน (โรงเรียน) 4. ปรับปรุงกายภาพให้ได้มาตรฐาน (ศูนย์เด็กเล็ก) 5. แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน 6. พัฒนาหลักสูตร Play – based learning 7. สร้างการมีส่วนร่วมกับครอบครัว (ห้องเรียนพ่อแม่) 8. พัฒนาครูผู้สอน เพิ่มสวัสดิการ ลดภาระครู
ด้านปลัดฯ วันทนีย์ กล่าวว่า อยากให้หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ เขต และสำนักพัฒนาสังคม ได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพราะหน้างานไม่ได้อยู่แค่ชุมชน สวัสดิการ อาชีพ ที่อยู่อาศัย เพราะคนในที่นี้ทำหน้าที่ที่สำคัญกับทุกคน ทุกเรื่อง และทุกงานที่เกี่ยวกับคน พ.ร.บ.บริหารราชการปี 2528 ขณะนี้ผ่านมา 40 ปี มีหลายเรื่องบริบทเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คิดอะไรไม่ออกบอก กทม. ไว้ก่อน เห็นอะไรไม่ดีด่า กทม. ไว้ก่อน เราไม่มีสิทธิ์แก้ตัวว่าไม่ เพราะนโยบายผู้ว่าฯ รับมาแล้วประสานต่อ เราคือคนที่จะได้รับผลจากอันนี้ วันนี้จะดีกว่าไหมถ้ามีโอกาสในการจัดการภายใต้ พ.ร.บ. ที่แก้ไขแล้ว แต่ประชาชนเป็นคนที่ได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบจากการกระทำของเรา ถ้าแก้แล้วสะดวกขึ้น ทำแล้วดีขึ้น ประชาชนได้มากขึ้น ชีวิตการทำงานเปลี่ยนไปแล้ว อยู่แต่ในโลกของเราไม่พอแล้ว มีอะไรไหวต่าง มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เราเรียนรู้และผลักดันได้อีกเยอะ ผู้บริหารให้ความสำคัญกับฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ มาก วันนี้ไม่ใช่ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ หรือสำนักพัฒนาสังคมทำอย่างเดียว ทำอย่างไรที่จะมีการประสานเชื่อมต่อกับสำนักอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย กระบวนการที่จะดำเนินการต่อไปนี้การมีส่วนร่วมเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ใช่เราทำให้อย่างเดียวเหมือนเดิมแต่การกระตุ้นให้เขาเข้ามารับทราบ เข้าใจและมีส่วนร่วมในการผลักดันดำเนินการความยั่งยืนก็จะเกิด การปรับมายเซตที่สำคัญของหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ จำเป็นอย่างยิ่ง คิดแบบเดิมก็จะติดกับดักแบบเดิม
สำหรับเรื่องของผู้สูงอายุเป็นเรื่องใหญ่ของกลุ่มเปราะบาง ตอนนี้เราเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) เรียบร้อยแล้ว เราอยากให้ผู้สูงอายุติดบ้านให้น้อย ติดสังคมให้มาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านศูนย์สร้างสุขทุกวัย ผ่านชมรมผู้สูงอายุ ผ่านกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง วันนี้มีเรื่องโรงเรียนผู้สูงอายุที่เขาอยากให้เราเปิด อยากให้เด็กเล็ก ๆ เรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้สูงอายุ ปัจจุบันเด็กเกิดน้อยจนอัตราการตายกับการเกิดเท่า ๆ กันแล้ว ในอนาคตผู้สูงอายุจะเยอะกว่าเด็กเล็ก เพราะการแพทย์ดีขึ้น คนรุ่นใหม่แต่งงานไม่ยอมมีลูก ช่วงปฐมวัยคือหัวใจของทุกชีวิตในสังคมนี้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีนโยบายให้จัดอนุบาล 3 ขวบ เพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าสู่การระดับอนุบาลปกติ เป็นการเตรียมความพร้อมเด็กเพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการรายงานในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1. โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 2. กิจกรรมการจัดเก็บข้อมูลแบบสำรวจข้อมูลครัวเรือนในชุมชน (ระดับหลังคาเรือน) 3. โครงการห้องปลอดฝุ่นสำหรับเด็กเล็ก (Clean air Shelter) 4. ความคืบหน้าการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ 5. ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2568 6. แนวทางการบันทึกข้อมูลรายงานผลการดําเนินการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในระบบ บสต. และระบบ กทม. 7. โครงการ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 8. โครงการบ้านมั่นคง PLUS 9. โครงการจ้างอาสาสมัครพัฒนาชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 10. แจ้งแผนการลงพื้นที่ตรวจติดตามและประเมินแปลงผักชุมชนดีเด่นของกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ 2568 11. ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการนำผลผลิตมาจำหน่ายที่ตลาด Farmer Market 12. มาตรฐานสินค้าเกษตรของกรุงเทพมหานคร ( BANGKOK G) และ 13. นโยบายตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเขต