Biz news

คปภ.ร่วมปราจีนบุรี-ประกันภัย-ทีดีอาร์ไอ จัดงาน'ปราจีนยืนหนึ่งถนนปลอดภัยฯ'



ปราจีนบุรี-คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน“ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย” Kick off พื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนนรณรงค์ พ.ร.บ. ปี 2568 พร้อมจัดเวทีเสวนาถอดรหัส ถนน 304 เสนอบังคับใช้ กม. ออกมาตรการลดเสี่ยง

วันที่ 21 เมษายน 2568 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จังหวัดปราจีนบุรีภาคธุรกิจประกันภัยและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงาน “ปราจีน ยืนหนึ่ง ถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย” ภายใต้โครงการสร้างพื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนและการรณรงค์ประกันภัยรถภาคบังคับ ปี 2568 ณ โรงแรมแคนทารี่ 304 ปราจีนบุรี พร้อมเปิดตัวคณะทำงานเพื่อดำเนินโครงการสร้างพื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนและการรณรงค์ประกันภัยรถภาคบังคับในพื้นที่ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเปิดเวทีเสวนา ถอดรหัสถนน 304 ระดมความคิดเห็นเพื่อนำเสนอแนวทางและมาตรการลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ หวังยกระดับความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมตั้งเป้าต่อยอดโมเดลต้นแบบนี้สู่การประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

สำนักงาน คปภ. เดินหน้าขับเคลื่อนระบบประกันภัย ยกระดับความปลอดภัยทางถนน - ชูบทบาท “ประกันภัย” เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ลดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ ประกาศเดินหน้าใช้ระบบประกันภัยเป็นกลไกสำคัญ ในการบรรเทาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน พร้อมส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. กล่าววิสัยทัศน์ในหัวข้อ “คปภ. กับบทบาทเชิงรุก: ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนควบคู่การประกันภัย” ว่า โครงการสร้างพื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนและการรณรงค์ประกันภัยรถภาคบังคับ ปี 2568 เป็นมิติใหม่ในการดำเนินโครงการของสำนักงาน คปภ. เนื่องจากอัตราการเกิดอุบัติเหตุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี โดยค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่ากังวล โดยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนเฉลี่ยสูงถึง 14,000 รายต่อปีซึ่งนอกจากจะสร้างความสูญเสียในระดับครอบครัวแล้ว ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ“กลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่คือวัยแรงงานอายุ 36-60 ปี ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว และมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การสูญเสียจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่สถิติ แต่มันคือการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาในระยะยาว” พร้อมเน้นย้ำว่าการมีประกันภัยรถภาคบังคับช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อต้องเผชิญอุบัติเหตุ โดยกฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองสูงสุดถึง 504,000 บาทต่อราย อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่ามีเพียงร้อยละ79.97 ของรถจดทะเบียนเท่านั้นที่จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ โดยเฉพาะในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีอัตราการทำประกันภัยเพียงร้อยละ68.51เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้น ผลกระทบไม่ได้จบที่ผู้ประสบเหตุ แต่ยังลุกลามไปถึงครอบครัวที่ต้องรับภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ การมีระบบประกันภัยที่ครอบคลุมจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการเยียวยา ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม และลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ยืนยันที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกต่อเนื่อง ทั้งด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมวินัยจราจร และเพิ่มการเข้าถึงระบบประกันภัยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในสังคมไทย

ด้านนายวีระพันธ์ ดีอ่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวรายงาน โดยชูศักยภาพจังหวัดสู่เมืองต้นแบบ Road Safety -ดันมาตรการลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืนหนุนประกันภัยรถภาคบังคับสร้างหลักประกันชีวิต พร้อมรับมือความท้าทายบนเส้นทางเสี่ยง โดยแสดงความมั่นใจในศักยภาพของจังหวัดในการขับเคลื่อนมาตรการความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมย้ำบทบาทสำคัญของระบบประกันภัย ในฐานะเครื่องมือเสริมสร้างหลักประกันชีวิตและบรรเทาความสูญเสียให้กับประชาชนในการปาฐกถาในหัวข้อ “ศักยภาพจังหวัดปราจีน เมืองต้นแบบ Road Safety”โดยกล่าวว่า จังหวัดปราจีนบุรีสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ตามเป้าหมายของแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์อุบัติเหตุใหญ่บนเส้นทางเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา ยังคงสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการด้านความปลอดภัยต้องได้รับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องการได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ ไม่ใช่เพียงโอกาส แต่คือความรับผิดชอบที่ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยความปลอดภัยทางถนนนั้น ไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องครอบคลุมทั้งการสร้างวินัยจราจร การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น การแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยง และสร้างความตระหนักรู้ในสังคม รวมถึงความเข้าใจเรื่องประกันภัย ที่จะช่วยเยียวยาความสูญเสียและสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้ประชาชนพร้อมเน้นย้ำว่า ระบบประกันภัยถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบจากอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการเยียวยาความเสียหาย และการสนับสนุนการดำเนินงานด้านความปลอดภัย ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคประกันภัย ภาครัฐ และเอกชน “เราต้องส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงประกันภัยรถภาคบังคับอย่างทั่วถึง เพราะเป็นหลักประกันความมั่นคงที่จำเป็นและช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดจากความสูญเสียให้กับทุกคนได้

ั้งเป้าสร้าง “พื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนน” เน้นวางรากฐานแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควบคู่การส่งเสริมประกันภัยรถภาคบังคับ ลดความสูญเสีย ประชาชนได้รับประโยชน์ตรงจุดสำนักงาน คปภ. เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสร้างพื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนและการรณรงค์ประกันภัยรถภาคบังคับอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการวางรากฐานเพื่อพัฒนาแนวทางลดอุบัติเหตุที่สามารถขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้ในระยะยาว

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ นี้มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. ศึกษาวิจัยเชิงลึก ปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่จริง โดยจังหวัดปราจีนบุรีได้รับเลือกเป็นพื้นที่ต้นแบบ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภาคตะวันออก และเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางสายหลักหลายสาย ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแนวทางลดอุบัติเหตุที่สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ 2. สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนและสิทธิประโยชน์จากการประกันภัยรถภาคบังคับ เพื่อให้เข้าถึงหลักประกันความคุ้มครองได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน และ 3. บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อผลักดันมาตรการป้องกันอุบัติเหตุให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมนำข้อมูลวิจัยมาพัฒนาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพต่อไปโดยโครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างมาตรการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เป็นระบบและยั่งยืน พร้อมเน้นว่า การพัฒนามาตรการความปลอดภัยควรเดินควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีประกันภัยรถภาคบังคับอย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากอุบัติเหตุและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนได้

เวทีเสวนาถอดรหัส 304 ปักหมุด “ปราจีน” เมืองต้นแบบถนนปลอดภัย ทีดีอาร์ไอ เปิดผลวิเคราะห์ 304 อุบัติเหตุสะสม 5 ปี พุ่งทะลุ 700 ครั้งสี่แยกกบินทร์บุรี - วังน้ำเขียว - ศาลปู่เขาโทนติดท็อปพื้นที่เสี่ยงสูง 

ขณะที่การเสวนา RoadSafetyTalk “ถอดรหัส 304 ปักหมุดปราจีนต้นแบบถนนปลอดภัย” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นางมยุรินทร์สุทธิรัตนพันธ์ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงาน คปภ.ศาสตราจารย์ดร.กัณวีร์กนิษฐ์พงศ์ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยนายเสรีกวินรัชตโรจน์ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ และดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ทีดีอาร์ไอ แลกเปลี่ยนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในประเทศ และในจังหวัดปราจีนบุรี โดยเฉพาะเส้นทาง 304 ในหลายแง่มุม ทั้งมาตรการสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ถนน พฤติกรรมการขับขี่ รวมทั้งความท้าทายในการสร้างระบบประกันภัย

ดร.สุเมธ องกิตติกุล กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพยายามลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี 2570 แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาไทยยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย โดยในปี 2567 ที่ผ่านมาจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าเป้าที่วางไว้ถึง ร้อยละ 125 ขณะเดียวกันยังมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ ดังนั้นการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ขี่รถจักรยานยนต์จึงเป็นจุดเน้นสำคัญของประเทศ รวมถึงจังหวัดปราจีนบุรีด้วยเช่นกัน โดยจังหวัดปราจีนบุรี มีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 78.16 จากอุบัติเหตุทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 1 ใน 3 เป็นเยาวชน และผู้สูงอายุ โดยได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์จุดเสี่ยงในจังหวัดปราจีนบุรีโดยพบว่ามี 3 อำเภอที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูง คือ อำเภอเมือง อำเภอศรีมโหสถ และอำเภอศรีมหาโพธิ โดยเฉพาะบริเวณสวนอุตสาหกรรม 304และทางหลวงหมายเลข 304โดยระหว่างปี 2562 - 2567 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนถนน 304 ถึง 711 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณตอนที่ 0403 สี่แยกกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียวมากที่สุดถึง 550 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 77.4 ของอุบัติเหตุบนถนน 304 ทั้งหมด โดยมีผู้เสียชีวิตสะสมถึง 70 ราย บาดเจ็บกว่า 400 คน เนื่องจากสภาพพื้นที่มีลักษณะผ่านชุมชน และนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งภูมิประเทศเป็นทางชัน นอกจากนี้ยังมีช่วงกิโลเมตรที่ 209-211 หรือบริเวณศาลเจ้าพ่อปู่โทน ซึ่งเป็นระยะที่มีความชันมากที่สุดในพื้นที่จ.ปราจีนบุรี และที่ผ่านมามักเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในบริเวณนี้ โดยสถิติพบว่ามีอุบัติเหตุคิดเป็นร้อยละ 32.5 ของอุบัติเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนถนนสาย 304  

เสนอบังคับใช้กฎหมายออกมาตรการลดเสี่ยง พร้อมหนุนทำประกันภัยภาคบังคับ เผยมีจักรยานยนต์มากกว่า 7.3 ล้านคัน ไม่ทำประกันภัยภาคบังคับดร.สุเมธ องกิตติกุล ยังระบุถึงมาตรการในการแก้ปัญหาว่า ควรเน้นการบังคับใช้กฎหมาย และส่งเสริมมาตรการลดความเสี่ยง เช่น การจับความเร็ว การส่งเสริมการใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมทั้งการปรับปรุงกายภาพรวมทั้งจะต้องหามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมซึ่งจะต้องหารือร่วมกับนักวิชาการ และคณะทำงานในจังหวัดเพื่อลดความเสี่ยงในพื้นที่ต่อไปขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยภาคบังคับ ซึ่งในปี 2567 พบว่า มีรถจักรยานยนต์อย่างน้อย 7.3 ล้านคัน หรือร้อยละ 32 ไม่ทำประกันภัยภาคบังคับที่วิ่งอยู่บนท้องถนนขณะที่สัดส่วนการไม่ทำประกันภัยภาคบังคับในจังหวัดปราจีนบุรีมากกว่าสัดส่วนของประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 43 หรือ 70,000 คัน ขณะที่มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายเยียวยาของรถที่ไม่ทำประกันภันภัยภาคบังคับสะสมตั้งแต่ปี 2559 - 2567 มากถึง1,522ล้านบาทดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการทำประกันภัยภาคบังคับในกลุ่มเป้าหมาย อย่างผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดปราจีนบุรี เช่น นิคม 304 จะเป็นสิ่งที่โครงการนี้จะทดลองศึกษา และสังเคราะห์แนวทางที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ต่อไป

ด้านนางมยุรินทร์สุทธิรัตนพันธ์ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงาน คปภ. ได้กล่าวทิ้งท้ายในเวทีเสวนาว่าโครงการนี้ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่จบลงหลังวันจัดงาน แต่เราหวังให้ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ถนนสาย 304 ของจังหวัดปราจีนบุรี จะต้องกลายเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยที่สะท้อนความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ไปจนถึงประชาชนทุกคนและสิ่งสำคัญที่สุดคือสำนักงาน คปภ. อยากให้ทุกคนมองเห็นว่าการทำ พ.ร.บ. ไม่ใช่แค่เอกสารที่ต้องมีเพราะกฎหมายบังคับ แต่คือเพื่อนคู่ถนนที่พร้อมอยู่เคียงข้างคุณในวันที่เกิดเหตุไม่คาดคิด จึงขอฝากถึงพี่น้องชาวปราจีนบุรีทุกท่านขอให้เราทุกคนช่วยกันเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ อย่าปล่อยให้ความสูญเสียกลายเป็นเรื่องปกติบนท้องถนน เพราะทุกชีวิตมีค่า และทุกการป้องกันที่เราเริ่มต้นวันนี้ จะช่วยรักษาอนาคตของครอบครัวและชุมชนของเราไว้

“สำนักงาน คปภ. จะยืนอยู่เคียงข้างทุกท่านในฐานะพลังสนับสนุน เพื่อให้ระบบประกันภัยไม่ใช่แค่เครื่องมือเยียวยาหลังอุบัติเหตุแต่กลายเป็นเกราะป้องกันชีวิตที่ทุกคนเข้าถึงได้จริงเราเชื่อมั่นว่าจังหวัดปราจีนบุรีจะกลายเป็นต้นแบบของความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และสำนักงาน คปภ. พร้อมเดินหน้าสานต่อภารกิจสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนให้หยั่งรากในทุกพื้นที่ จนกว่าทุกคนบนท้องถนนจะได้รับความคุ้มครองที่พวกเขาสมควรได้รับอย่างแท้จริง”เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย