In News

ผลประชุมคจร.เร่งเดินหน้าโครงการใหญ่ เผยอัพเดรท8เรื่องเขตกทม.-ปริมณฑล



กรุงเทพฯ-"สุริยะ" ประชุม คจร. พร้อมมอบทุกฝ่ายเร่งดำเนินการโครงการสำคัญ พร้อมจัดการจราจรในพื้นที่เพื่อรองรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2568 ในวันนี้ (22 เมษายน 2568) ว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่สำคัญ พร้อมกับร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดการจราจรเพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – ตลิ่งชัน รวมไปจนถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพื่อลดลดปัญหาจราจรติดขัดในจังหวัดภูเก็ต

สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินโครงการที่สำคัญมีทั้งหมด 8 เรื่อง ได้แก่

1) ความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร ได้แก่ สายสีเขียว (สุขุมวิท) ช่วงหมอชิต – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต สายสีเขียว (สีลม) ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ – บางหว้า สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง ช่วงหัวลำโพง - บางแค (หลักสอง) และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ แอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงพญาไท – สุวรรณภูมิ สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – เตาปูน สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี – คลองสาน สายสีแดง (เหนือ) ช่วงบางซื่อ – รังสิต สายสีแดง (ตะวันตก) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี 

 2) คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการอนุญาตและแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและต้องการลดอุบัติเหตุ

3) รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ. 2567 - 2580 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งต้องมีการรายงานกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทุกระยะ 6 เดือน เพื่อติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

4) ความคืบหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาจราจรในระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ กทม. 104 จุด ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 82 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการ 22 จุด และในพื้นที่รับผิดชอบของ ทล. 31 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 10 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการ 21 จุด เป็นต้น

5) ความคืบหน้าโครงการภายใต้แผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี และช่วงที่ 2 ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทางขึ้น – ลง เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร แบ่งเบาปริมาณการจราจรของสะพานกรุงธนและสะพานพระราม ๗ และเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายและกระจายการเดินทางของพื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมทั้งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรโดยรอบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางของศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

6) ผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองหลักในภูมิภาค 11 จังหวัด

7) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบิน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ. 2568 - 2580 เพื่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อการเดินทางครบทุกรูปแบบสำหรับคนทุกกลุ่มโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าและเชื่อมต่อกับสนามบิน ทั้งนี้ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กทม. กระทรวงมหาดไทย (มท.) (จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมธนารักษ์) ทล. ทช. กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

และ 8) สรุปผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (อจร.) ปีงบประมาณ 2567 และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กำชับทุกจังหวัดให้ดำเนินการจัดประชุม อจร. อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อแก้ไข ผลักดัน และติดตามปัญหาด้านการขนส่งและจราจรในเมืองภูมิภาคต่อไป 

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดการจราจรเพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – ตลิ่งชัน โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างในขั้นตอนการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ซึ่ง รฟม. จำเป็นต้องรื้อย้ายสะพานรถข้ามทางแยก จำนวน 3 สะพาน ประกอบด้วย 1) สะพานสุทธาวาส (ข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์) รื้อย้ายปี 2568 2) สะพานราชเทวี (ข้ามถนนพญาไท) รื้อย้ายปี 2568 และ 3) สะพานประตูน้ำ (ข้ามถนนราชดำริ/ถนนราชปรารภ) รื้อย้ายปี 2569 จึงจำเป็นต้องมีการกั้นพื้นที่ผิวจราจร ตามแนวเส้นทางที่มีการก่อสร้างบนถนนสายต่าง ๆ เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนหลานหลวง ถนนเพชรบุรี ถนนราชปรารภ ถนนดินแดง และถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับงานก่อสร้าง 

โดยพื้นที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการก่อสร้างคือ ถนนเพชรบุรี ช่วงแยกยมราช แยกราชเทวี และแยกประตูน้ำ เนื่องจากถนนเพชรบุรีเป็นถนนสายหลักในเส้นทางทิศตะวันออก - ตะวันตก มีปริมาณการจราจรผ่านเส้นทางเป็นจำนวนมาก และเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม การค้า และการท่องเที่ยว มีห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก และโรงแรม 

จึงได้สั่งการให้ สนข. และ รฟม. เข้าตรวจสอบสภาพการจราจร ซึ่งพบว่า ความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจร ของถนนเพชรบุรีรวมทั้งบริเวณทางแยกลดลง ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด จึงเห็นสมควรปรับปรุงเส้นทางการจราจรเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน โดยปรับการจัดการเดินรถบนถนนพระราม 6 ช่วงแยกพงษ์พระราม - แยกอุรุพงษ์ เป็นเดินรถ 2 ทิศทาง ทิศทางละ 2 ช่องจราจร เพื่อให้รถที่ลงจากทางพิเศษที่ด่านอุรุพงษ์ และรถบนถนนพระราม 6 จากแยกศรีอยุธยาสามารถใช้ถนนพระราม 6 ไปที่แยกพงษ์พระรามแล้วเลี้ยวซ้ายไปแยกปทุมวัน โดยไม่ต้องผ่านถนนเพชรบุรี ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างได้ ทั้งนี้ ได้มอบหมาย กทม. กองบัญชาการตำรวจนครบาล และ รฟม. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสุริยะ กล่าวตอนท้ายว่า สำหรับโครงการบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรจังหวัดภูเก็ต ได้มอบหมายให้ สนข. ร่วมเข้าแก้ไขปัญหากับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเรียกประชุมเป็นระยะ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม เบื้องต้นได้จัดทำแผนการดำเนินการเพื่อลดลดปัญหาจราจรติดขัด โดยได้มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence : AI) มาใช้วิเคราะห์ติดตามการไหลของจราจรและปรับสัญญาณไฟจราจรตามสภาพจราจรแบบปัจจุบัน ซึ่งเป็นโครงการที่รวมอยู่ใน 14 โครงการ ที่ได้เสนอขอรับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับปรุงและเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยในการลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและทางน้ำที่สำคัญ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงการบูรณาการเพื่อลดปัญหาจราจรติดขัด โดยควบคุมการไหลของการจราจร (TRAFFIC FLOW) และการเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของยานพาหนะบริเวณทางแยก และปรับการไหลของจราจรตามเส้นทางให้เหมาะสม โดยนำระบบ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ติดตามการไหลของจราจรและปรับสัญญาณไฟจราจร ตามสภาพจราจรแบบปัจจุบัน (REAL TIME) และมีระบบศูนย์กลางข้อมูลจราจรที่มีศักยภาพในการนำข้อมูลไปประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลจราจรในจังหวัดภูเก็ต 

โดยจำแนกโครงการเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1) โครงการบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 เป็นการติดตั้งระบบตู้จราจรอัจฉริยะ 20 จุด และติดตั้งป้ายแสดงข้อมูล 5 จุด และ 2) โครงการบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 2 เป็นการติดตั้งระบบตู้จราจรอัจฉริยะ 20 จุด ติดตั้งป้ายแสดงข้อมูล 20 จุด และติดตั้งกล้องตรวจนับปริมาณจราจร 10 จุด ทั้งนี้ ได้มอบหมาย รฟม. เร่งรัดการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตโดยด่วน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรในจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืนต่อไป