Biz news

Lightnet-WeLabผู้ให้บริการVirtual Bankเผยวิสัยทัศน์ธนาคารดิจิทัลไทย



กรุงเทพฯ, 24 เมษายน 2568 – Lightnet-WeLab กลุ่มผู้ขอใบอนุญาตให้บริการ Virtual Bank ในประเทศไทย เข้าร่วมงาน Money 20/20 Asia ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของมหกรรมด้านฟินเทคชั้นนำของโลก โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน ผู้บริหารสองท่านของกลุ่ม อันได้แก่ นายไซมอน หลุง ผู้ก่อตั้งและ Group CEO ของ WeLab และ ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม ประธานบริษัท ไลท์เน็ท กรุ๊ป (Lightnet Group) และที่ปรึกษาอาวุโสกลุ่มทุน Lightnet-WeLab ได้รับเกียรติเป็นผู้บรรยายภายในงานและร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งในประเทศไทยและการสร้างภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ผ่าน Virtual Bank

การเข้าร่วมงานของกลุ่ม Lightnet-WeLab เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของอุตสาหกรรมธนาคารไทย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการ Virtual Bank ในประเทศไทยภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ทั้งนี้ กลุ่ม Lightnet-WeLab ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ที่จะส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านการเงินให้กับคนไทย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของประเทศที่มีมูลค่าสูงกว่า 16.3 ล้านล้านบาท และลดช่องว่างด้านการเงินของกลุ่ม Underserved ในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงบริการด้านการเงินได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ผ่านการผสานโครงสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่แข็งแกร่งของ Lightnet เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลแบงก์กิ้งของ WeLab

นายไซมอน หลุง ได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Digital Banks vs. Legacy Banks: Will 2025 Be the Tipping Point?” โดยภายในงานเสวนา นายไซมอน กล่าวว่า “เส้นทางของ WeLab เติบโตจากสตาร์ทอัพฟินเทครุ่นบุกเบิกมาสู่บริษัทฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง เราได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Hong Kong Investment Corporation Limited ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และยังได้รับรางวัล Best Virtual Bank และ Best Bank for Financial Inclusion in Hong Kong จาก Finance Asia ความสำเร็จเหล่านี้ล้วนตอกย้ำศักยภาพในการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำธุรกิจของเรา และด้วยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เราจึงมีความพร้อมที่จะนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากความสำเร็จในฮ่องกงและอินโดนีเซียมาสู่ประเทศไทยภายใน 12 เดือนหลังได้รับใบอนุญาต”


ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม ประธานบริษัท ไลท์เน็ท กรุ๊ป (Lightnet Group) และที่ปรึกษาอาวุโสกลุ่มทุน Lightnet-WeLab

ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม ได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Licensing Digital Banks in Asia: Visions and Opportunities” โดยภายในงานเสวนา ดร.ชาลี กล่าวว่า “จากการเพิ่มขึ้นของปัญหาการหลอกลวงทางการเงินซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางการเงินของประเทศไทย เราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของศักยภาพด้านเทคโนโลยีของ Virtual Bank ที่จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลแบงก์กิ้งที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่การเปลี่ยนบริการด้านการเงินจากรูปแบบเดิมมาเป็นดิจิทัลเท่านั้น แต่เรายังมุ่งปฏิรูปการให้บริการด้านการเงินจากฐานรากด้วยการผสานเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูงเข้าไปในทุกโซลูชันของเราเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ เรายังได้ลงนามใน MOU ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเครดิตและการป้องกันการฉ้อโกงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสนับสนุนการป้องกันการฉ้อโกงทางการเงินในประเทศไทย และด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกแบบเฉพาะสำหรับลูกค้าในประเทศไทย เราจึงสามารถส่งมอบบริการด้านการเงินให้แก่กลุ่ม Underserved ที่เข้าไม่ถึงบริการด้านการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านระบบนิเวศที่เข้าถึงผู้ใช้กว่า 46 ล้านรายในหลายกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร แรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยไม่ละเลยมาตรฐานความปลอดภัยและการบริการระดับสูงสุด”

อีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน Money 20/20 Asia ในปีนี้คือปาฐกถาพิเศษโดย ดร. รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับบทบาทของผู้กำกับดูแลในระบบนิเวศทางการเงินของประเทศไทย

ในปาฐกถาพิเศษ ดร.รุ่ง ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของผู้เล่นรายเล็กที่มีความคล่องตัว อย่างเช่นฟินเทคและผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่มักมีความโดดเด่นในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย เธอเน้นย้ำถึงอนาคตของระบบการเงินประเทศไทยที่ต้องให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น ความปลอดภัย และการเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแข่งขันที่เปิดกว่างและสร้างสรรค์ ทั้งยังเรียกร้องให้ทุกผู้เล่นในอุตสาหกรรมสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้กำกับดูแล สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการด้านฟินเทค ไปจนถึงผู้คนและชุมชนที่ให้บริการ เพื่อร่วมกันสรรสร้างนโยบายและรับมือกับภูมิทัศน์ทางการเงินในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

แนวทางของกลุ่ม Lightnet-WeLab เป็นตัวอย่างที่สอดรับโดยตรงกับวิสัยทัศน์ของผู้กำกับดูแลข้างต้น ในฐานะผู้เล่นรายใหม่ กลุ่ม Lightnet-WeLab มีแนวทางเพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการด้านการเงินผ่าน 3 กลยุทธ์ที่ทำงานร่วมกัน ได้แก่: 1) การลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านการเงิน 2) การนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าคนไทยที่หลากหลาย และ 3) การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประเมินเครดิตเพื่อขยายบริการด้านการเงินอย่างมีความรับผิดชอบสู่กลุ่ม Underserved แนวทางเหล่านี้ล้วนเป็นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งของกลุ่ม Lightnet-Welab เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านการเงินให้กับคนไทยโดยไม่ละเลยมาตรฐานด้านความปลอดภัยและจุดแข็งด้านความยืดหยุ่นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญ หากได้รับใบอนุญาต

การนำเสนอวิสัยทัศน์ของกลุ่ม Lightnet-WeLab ในงาน Money 20/20 Asia 2025 ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้นำในวงการฟินเทค นักลงทุน และสถาบันการเงินชั้นนำ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างไม่ลดละของกลุ่ม Lightnet-WeLab ในการส่งมอบนวัตกรรมโซลูชันทางการเงินดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการด้านการเงิน พร้อมสะท้อนกระแสการยอมรับถึงบทบาทสำคัญของ Virtual Banking ที่เพิ่มมากขึ้น ในการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมการเงิน