In Global

บทวิเคราะห์จีนมุ่งมั่นสร้างประชาคมที่มี อนาคตร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน



เมื่อไม่นานมานี้ จีนได้จัด “การประชุมส่วนกลางว่าด้วยการดำเนินงานด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน” ที่กรุงปักกิ่ง โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้ย้ำต่อที่ประชุมว่า ต้อง “มุ่งเน้นการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน” สะท้อนถึงความจริงใจและการให้ความสำคัญอย่างยิ่งของจีนในการสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีกระดับ

หลังการประชุมไม่กี่วัน นายสี จิ้นผิงเดินทางเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากและมีความสำคัญยิ่ง การเยือนครั้งนี้ได้เปิดบทใหม่แห่งการร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันและร่วมกันก้าวสู่ความทันสมัยระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเพื่อนบ้านมากที่สุดในโลก โดยมีพรมแดนติดต่อกับ 14 ประเทศ รวมระยะทางถึง 22,000 กิโลเมตร จีนตระหนักดีว่าสำหรับทุกประเทศแล้ว การมีสภาพแวดล้อมโดยรอบที่มั่นคงและปลอดภัยนั้นคือรากฐานสำคัญในการนำประเทศไปสู่การพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อประโยชน์ของจีนเท่านั้น แต่ยังเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายและภูมิภาคโดยรวมอีกด้วย

โดยเฉพาะในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง รัฐบาลจีนได้พยายามสร้างความไว้วางใจทางการเมือง การหลอมรวมทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ได้เสนอแนวคิดด้านการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านที่เน้น “ใกล้ชิด จริงใจ เกื้อกูล และเปิดกว้าง”  ริเริ่มและขับเคลื่อนการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้การชี้นำด้วย“การทูตประมุข” จีนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ดำเนินความร่วมมือในทุกมิติและเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนในทุกๆด้านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งร่วมกันรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ จนได้ก่อรูปขึ้นเป็นกรอบการทำงานเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นผลลัพธ์ ซึ่งผลักดันให้การดำเนินงานเกี่ยวกับประเทศรอบข้างของจีนประสบผลสำเร็จและเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์

ความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในสาขาที่ให้ความสำคัญมากที่สุดในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน โครงการรถไฟจีน-ลาวถือเป็นตัวอย่างโครงการเชิงสัญลักษณ์ เส้นทางรถไฟที่ทันสมัยสายนี้เชื่อมเมืองคุนหมิงของจีนกับเวียงจันทน์เมืองหลวงของลาว ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2021 เป็นต้นมา ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกเป็นอย่างดียิ่งต่อการขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสาร อีกทั้งยังได้เปลี่ยนสถานะของลาวจาก “ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล” ให้กลายเป็น “ประเทศที่มีการเชื่อมโยงทางบก” ซึ่งได้ยกระดับการเชื่อมโยงของภูมิภาคและความสามารถในการดึงการลงทุนของลาว ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงก็ได้กลายเป็น “นามบัตรทอง” แห่งการร่วมกันสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” อย่างมีคุณภาพสูงระหว่างจีนกับอินโดนีเซีย ซึ่งให้บริการผู้โดยสารไปแล้วกว่า 8 ล้านคน

ในด้านความมั่นคง จีนเน้นการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคผ่านการเจรจาและความร่วมมือ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงเป็นเวที จีนได้ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย ลาว เป็นต้น เพื่อรับมือกับอาชญากรรมข้ามพรมแดน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการตอบสนองต่อภัยพิบัติ ฯลฯ รวมถึงร่วมกันผลักดันการสร้างรูปแบบการบริหารจัดการด้านความมั่นคงที่มีการประสานงานและสร้างความไว้วางใจร่วมกันมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่แตกต่างจากแนวคิดการเผชิญหน้าที่เห็นได้ในบางภูมิภาคก็คือ จีนเสนอ “แนวคิดความมั่นคงเอเชีย” ที่เน้นสันติภาพ ความร่วมมือ ความเปิดกว้าง และการยอมรับความหลากหลาย โดยใช้การเจรจาอย่างเท่าเทียมในการจัดการข้อขัดแย้ง และพยายามสร้างฉันทามติด้านความมั่นคง แม้ในความเป็นจริงแนวคิดนี้จะต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย แต่ก็ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในหมู่ประเทศเอเชียอย่างต่อเนื่อง

การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมเป็นสายใยสำคัญของประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนสถาบันขงจื่อมากที่สุดในโลก การเรียนภาษาจีนได้รับความนิยมอย่างสูง ความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จีนได้ส่งมอบวัคซีนและอุปกรณ์ป้องกันโรคให้กับหลายประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงเจตนารมณ์ในการเป็นเพื่อนบ้านที่ “คอยเอาใจใส่และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” แสดงให้เห็นถึงความอบอุ่นและคุณค่าของแนวคิดประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันที่สะท้อนจากการปฏิบัติ

แน่นอนว่าการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อาจยังต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ เช่น การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค และความแตกต่างทางวัฒนธรรม จีนจึงกำลังพยายามขยายความร่วมมือกับเพื่อนบ้านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยการทำให้เป็นรูปธรรมและเปิดกว้างยิ่งขึ้น เพื่อค้นหาหนทางที่ได้ชัยชนะด้วยกันซึ่งสามารถตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาของตนเองและการสร้างประโยชน์ร่วมกับประเทศรอบข้าง

ในอนาคต ด้วยการผลักดันการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และการปรับปรุงยกระดับกลไกความร่วมมือพหุภาคี ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านย่อมจะใกล้ชิดยิ่งขึ้น และภาพลักษณ์ของประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันก็จะชัดเจนมากขึ้น ในโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น แนวคิดการบริหารภูมิภาคที่ใช้ความร่วมมือแทนการเผชิญหน้า และใช้แนวทางชนะร่วมกันแทนแนวคิดเกมผลรวมเป็นศูนย์นั้น ย่อมมีความสำคัญต่อการปฏิบัติในวงกว้างและมีอนาคตที่กว้างไกลยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

เขียนโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)