In Bangkok

กทม.ผนึก437โรงเรียนในสังกัดปลุกพลัง เด็กสร้างวัฒนธรรม'รักษ์วินัยจราจร'



กรุงเทพฯ-กทม. ผนึกกำลัง 437 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ปลุกพลังเยาวชนร่วมสร้างวัฒนธรรม “รักษ์วินัยจราจร” ผ่านกิจกรรมโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ปี 3

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง เดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรม “โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Culture School)” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้โครงการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้ (29 เมษายน 2568) ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 โดยมีนายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหาร ผู้แทนโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายรวมงาน อาทิ บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมผลักดันสนับสนุนโครงการฯ มาโดยตลอด

นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ กล่าวว่า กิจกรรมโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Culture School) ปี 3 เป็นการต่อยอดความสำเร็จที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายโรงเรียน ให้ครอบคลุมโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 แห่ง เพื่อเฟ้นหา “ครูผู้พิทักษ์ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน” และ “โรงเรียนติดดาว” ภายใต้แนวคิด “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม” ส่งเสริมให้เยาวชนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนพฤติกรรม การใช้ถนนอย่างปลอดภัยในระดับชุมชนและสังคม โดยผลจากการดำเนินกิจกรรมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียน ที่เข้าร่วมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านวินัยจราจรอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การใช้หมวกกันน็อกในกลุ่มนักเรียนเพิ่มขึ้น การสร้างกิจกรรมรณรงค์ภายในโรงเรียน และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นับเป็นเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้อุบัติเหตุลดลง และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ในสถานศึกษาได้อย่างยั่งยืน

สำหรับงานวันนี้เป็นการปฐมนิเทศเปิดตัวโครงการฯ เพื่อชี้แจงรายละเอียดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก และเกณฑ์การตัดสินของคณะกรรมการ ในเข้าร่วมแข่งขันพิชิตตำแหน่ง “ครูผู้พิทักษ์ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน” และ “โรงเรียนติดดาว” เพื่อชิงรางวัลกว่า 150,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตรและโล่รางวัล โดยมีการเปิดรับสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเริ่มต้นวันนี้ จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม จากนั้นจะคัดเลือกโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 18 โรงเรียน โดยแต่ละโรงเรียนจะจัดส่งครูผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 2 ท่าน ในการแข่งขัน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน  คือ 1) กิจกรรมที่ดำเนินภายในโรงเรียน และ 2) กิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสะสมคะแนน ภายในงานวันนี้มีบูธแสดงผลงานของโรงเรียนที่ได้รับรางวัลในปีก่อนและ บูธกิจกรรมจากบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด

ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณารางวัล จะแบ่งเป็นลักษณะผลงาน ผลการดำเนินกิจกรรม และความยั่งยืน ในการดำเนินกิจกรรม โดยมีระยะเวลาดำเนินกิจกรรมประมาณ 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 15 กันยายน 2568 โดยคณะกรรมการจะตัดสินตามเกณฑ์ที่กำหนดและคัดเลือก 10 โรงเรียนที่มีคะแนนสูงสุดเพื่อเข้ารอบตัดสิน และจะมีการลงพื้นที่ตรวจประเมินผลงาน พร้อมตัดสินผู้ชนะ และกำหนดพิธีมอบรางวัลให้กับผู้ชนะในงาน Road Safety All Stars Day ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมุ่งหวังให้กิจกรรมดังกล่าว เป็นพลังในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เกิดเป็นแรงผลักดันในการส่งต่อพฤติกรรมรักษ์วินัยจราจร จากเยาวชน สู่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และเมือง ต่อไป เพื่อสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็น “เมืองน่าอยู่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” อย่างยั่งยืน