EDU Research & Innovation
มธ.รุกปิดช่องว่างข้อมูลรับภัยพิบัติในไทย ดันคู่มือรับมือแผ่นดินไหวฉบับประชาชน

กรุงเทพฯ 30 เมษายน 2568 – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตอกย้ำบทบาทสถาบันการศึกษาเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดตัว "คู่มือรับมือแผ่นดินไหว: ฉบับประชาชน" ในรูปแบบ E-book ยกระดับการเตรียมความพร้อมของประชาชนให้สามารถรับมือกับรับมือภัยธรรมชาติ ทั้งในมิติเชิงวิศวกรรม สุขภาพกาย สุขภาพจิต และการสื่อสารในสถานการณ์วิกฤต ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้หลักคิด “ภัยธรรมชาติ...แม้ยากคาดการณ์ แต่สามารถเตรียมพร้อมได้” โดยคู่มือดังกล่าวมีเป้าหมายปิดช่องว่างข้อมูลด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับประชาชน ซึ่งขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากมีความสนใจเกี่ยวกับแนวทางการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง และลดปัญหาการขาดแคลนชุดข้อมูลที่เป็นระบบ และการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของสังคมไทยจากการตั้งรับสู่การเตรียมพร้อมเชิงรุก สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คู่มือรับมือแผ่นดินไหว: ฉบับประชาชน" ถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นจากองค์ความรู้ทางวิชาการร่วมสมัย พร้อมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด “ภัยธรรมชาติ...แม้ยากคาดการณ์ แต่สามารถเตรียมพร้อมได้” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับประชาชนในการป้องกันและรับมือแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการเตรียมตัวก่อนเกิดเหตุ การดำเนินการระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ ทั้งในมิติของร่างกาย จิตใจ การสื่อสาร และการตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่อยู่อาศัย
“ไฮไลต์สำคัญของคู่มือฉบับนี้ คือ การให้ความรู้ด้านการตรวจสอบความเสียหายของอาคารหลังแผ่นดินไหว ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ผ่านแอปพลิเคชัน “InSpectra-o1” เพื่อช่วยประเมินรอยร้าวและโครงสร้างอาคารเบื้องต้น พร้อมยังแนะนำให้ประชาชนจัดเก็บแบบแปลนอาคารไว้เป็นระบบ เพื่อให้การตรวจสอบโดยวิศวกรในอนาคตเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในคู่มือดังกล่าวยังให้ความสำคัญกับการเตรียมร่างกายและจิตใจสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้คำแนะนำเชิงลึกทั้งเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพ การเตรียมร่างกายให้คล่องแคล่วในภาวะฉุกเฉิน ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเฉพาะจุด การจัดระเบียบพื้นที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย รวมถึงเทคนิคการดูแลสุขภาพจิต เช่น การฝึกสมาธิ (Mindfulness) และเทคนิคการควบคุมอารมณ์ในช่วงหลังภัยพิบัติ รวมถึงแนวทางช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างจากภาวะความเครียดเฉียบพลัน (acute stress) หรือ PTSD ได้อย่างถูกต้องตามหลักจิตวิทยา”
ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤต คู่มือฉบับนี้ได้วางแนวทางทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคมออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) รู้จักตรวจสอบแหล่งข้อมูลก่อนส่งต่อหรือข่าวหลอกลวง และใช้เครือข่ายการสื่อสารหลากหลายช่องทางในกรณีที่ระบบสื่อสารหลักล่ม เช่น SMS แอปวิทยุสื่อสาร และโซเชียลมีเดีย การโพสต์สถานะบนโซเชียลมีเดียเพื่ออัปเดตความปลอดภัยแก่คนรอบข้าง พร้อมปลูกฝังแนวคิด “ทุกคนเป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม”
นอกจากนี้ อีกหนึ่ง Pain Point สำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตระหนักอย่างชัดเจนภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด คือการที่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับ “ช่องว่างข้อมูล” (Data Gap) ด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับประชาชน โดยพบว่าประชาชนจำนวนมากมีความสนใจและใฝ่รู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ทั้งในระหว่างและหลังเกิดเหตุการณ์ แต่กลับขาดแคลนชุดข้อมูลที่เป็นระบบ เข้าใจง่าย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงได้ทันที ส่งผลให้การตอบสนองในภาวะฉุกเฉินยังเป็นไปอย่างกระจัดกระจาย และขาดประสิทธิภาพในหลายพื้นที่ ซึ่งคู่มือฯ จะช่วยปิดช่องว่างดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และยังมุ่งหวังให้คู่มือฉบับนี้เป็นแหล่งข้อมูลกลาง (Centralized Knowledge Resource) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกจากการรวบรวมองค์ความรู้ ข้ามศาสตร์ ทั้งด้านวิศวกรรม สุขภาพกาย จิตวิทยา และการสื่อสารวิกฤต พร้อมเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การใช้ AI ในการประเมินสภาพอาคารเบื้องต้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันข้อมูล และทักษะการรับมือภัยพิบัติ" ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
“นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังตั้งเป้าหมายให้ “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว: ฉบับประชาชน” เป็นต้นแบบ (Trend Setter) ในการจัดทำแหล่งข้อมูลแนวทางการรับมือภัยพิบัติรูปแบบอื่น ๆ ในอนาคต เพื่อยกระดับการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และลดช่องว่างข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนในยามวิกฤต สร้างจุดเริ่มต้นของ “วัฒนธรรมความปลอดภัย” (Safety Culture) ให้หยั่งรากลึกในสังคมไทย ด้วยการส่งต่อความรู้และแนวทางปฏิบัติไปยังโรงเรียน ชุมชน องค์กร และภาคประชาชน ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้งยังตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงแนวคิดของสังคมไทยจากการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไปสู่การเตรียมพร้อมเชิงรุก (Proactive Disaster Preparedness) อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการวางแผนล่วงหน้า การฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ และบูรณาการองค์ความรู้สู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน”
สำหรับคู่มือรับมือแผ่นดินไหว: ฉบับประชาชน" มาในรูปแบบ E-Book เปิดให้ประชาชนทั่วไป ดาวน์โหลดได้ฟรี พร้อมรวบรวมลิงก์คู่มือรับมือภัยธรรมชาติจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมทรัพยากรธรณี รวมถึงแหล่งเรียนรู้จากต่างประเทศที่แปลเป็นภาษาไทย เพื่อเสริมคลังความรู้ให้ประชาชนมีทางเลือกในการศึกษาต่อในรูปแบบดิจิทัล และเพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินที่ควรบันทึกไว้ ได้แก่ สายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191, ดับเพลิงและกู้ภัย 199, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669, ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 192, ตำรวจท่องเที่ยว 1155 และกรมอุตุนิยมวิทยา 1182 ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเบอร์ที่ควรจำหรือเก็บไว้ในโทรศัพท์เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในทุกสถานการณ์
สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ https://pr.tu.ac.th/journal_special/2568/Earthquake-Preparedness-Guide/ind พร้อมขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันเผยแพร่คู่มือนี้สู่ชุมชน เพื่อเสริมความรู้ เพิ่มความเข้าใจ และลดความตระหนกในยามเกิดภัยพิบัติ ให้สังคมไทยเข้มแข็ง ปลอดภัย และพร้อมเผชิญทุกสถานการณ์ร่วมกันอย่างมั่นใจและมีสติ