In Bangkok
กทม.รุกมาตรการเฝ้าระวังยาเสพติดรอบ สถานศึกษาป้องกันเด็ก-เยาวชนเข้าถึง

กรุงเทพฯ-นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกประเภทในโรงเรียนสังกัด กทม. และการตรวจสอบไม่ให้มีการจำหน่ายยาเสพติด หรือสารเสพติดทุกประเภทบริเวณโดยรอบโรงเรียน โดยเฉพาะยาเสพติดที่มีลักษณะคล้ายตัวการ์ตูน ‘ลาบูบู้’ ว่า สนศ. ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลวิธีที่อาจทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย เช่น ยาเสพติดที่มีลักษณะคล้ายกับตัวการ์ตูน หรือของเล่น โดยดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ ขอความร่วมมือโรงเรียนในสังกัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานเขตร่วมตรวจสอบพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนอย่างเข้มงวด เพื่อตรวจจับการจำหน่ายยาเสพติด การป้องกันเชิงรุกได้ใช้มาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน โดยเฉพาะในช่วงที่เด็กนักเรียนเดินทางไป-กลับจากโรงเรียน และบริเวณโดยรอบโรงเรียนที่เป็นจุดเสี่ยงแพร่ระบาดของยาเสพติด ส่วนการดำเนินการตามกฎหมาย หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งในส่วนของการจำหน่ายยาเสพติด และการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง การติดตามหลังการดำเนินการ เมื่อพบการลักลอบจำหน่ายสารเสพติดจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ
ขณะเดียวกันในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนปี 68 สนศ. ได้กำชับให้โรงเรียนในสังกัดเตรียมพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 โดยจัดให้มีครูที่ปรึกษา ครูประจำชั้น ครูให้คำปรึกษา ครูแนะแนว หรือครูที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น แต่ปฏิบัติหน้าที่ในทำนองเดียวกัน ตรวจตราสอดส่องดูแลนักเรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ คอยดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่กำลังประสบปัญหา หรือที่มีความเสี่ยงว่าจะประสบปัญหา กรณีพบนักเรียนมีความจำเป็นเร่งด่วนให้ส่งนักเรียนเข้ารับการช่วยเหลือ โดยประสานศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ และจัดให้มีชมรม TO BE NUMBER ONE ซึ่งมีกิจกรรมบริการให้คำปรึกษา บริการฝึกแก้ปัญหาพัฒนา EQ เรียนรู้ด้วยตนเอง และบริการจัดกิจกรรมสร้างสุข มีกิจกรรมศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น เพื่อช่วยเหลือดูแลและพัฒนาสมาชิกให้มีคุณภาพและมีความสุขในแนวคิด “ปรับทุกข์ สร้างสุข แก้ปัญหา พัฒนา EQ” มีกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถของตนเอง และนักเรียนที่มีปัญหาได้มีที่พึ่งทางจิตใจ รวมทั้งมีกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้
นอกจากนี้ สนศ. ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลเด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัด เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าถึงยา หรือสารเสพติด ทั้งให้ครูประจำชั้นติดตามพฤติกรรมนักเรียนอย่างใกล้ชิดและจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิต เพื่อเสริมสร้างการตัดสินใจที่ถูกต้องและป้องกันการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงพิจารณาลงโทษหากพบการกระทำผิดจากนักเรียนที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะดำเนินการลงโทษอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 โดยพิจารณาจากลักษณะการกระทำผิดและพฤติกรรมของนักเรียน จัดการดูแลช่วยเหลือและบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เด็กสามารถฟื้นฟูและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ พร้อมทั้งประสานสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ สนศ. ยังมุ่งให้ความรู้และสร้างการรับรู้ในโทษและพิษภัยของยาเสพติดให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัด โดยจัดการเรียนการสอนให้มีหลักสูตรที่เน้นให้เด็กนักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับโทษและภัยของยาเสพติด ทั้งในห้องเรียนและการจัดกิจกรรมพิเศษ สอดแทรกในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่นักเรียน เช่น จัดทำโครงการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิตที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีทักษะตัดสินใจที่ดี เช่น การเสวนา การแข่งขันวาดภาพ หรือการทำสื่อรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การประกวดนวัตกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาหรือสารเสพติด เป็นต้น รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ปกครองและชุมชนร่วมกันป้องกันและติดตามพฤติกรรมของเด็กนักเรียน โดยช่วยกันสอดส่องและติดตามการดำเนินชีวิตของเด็กนักเรียนไม่ให้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด