EDU Research & Innovation

ยธ.แก้ปัญหาหนี้ในงาน 'มหกรรมแก้หนี้' ลูกหนี้กยศ.แห่ร่วมปรับโครงสร้างหนี้



ชุมพร-ยุติธรรม ลุยแก้ปัญหาหนี้ ภายใต้ “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 ลูกหนี้ กยศ.แห่งร่วมโครงการเพื่อต้องการปรับโครงสร้างชำระหนี้

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตชุมพร  จังหวัดชุมพร  พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ประจำสำนัก เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 จังหวัดชุมพร ซึ่งกระทรวงยุติธรรม จัดขึ้น  โดยนำสถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วม มีดังนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดชุมพร (กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี), บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด, บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด, บริษัทเจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิชเซ็ส จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์,สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดชุมพรจัดการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้

 โดย น.ส.ดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า จากสถานการณ์ ภาวะหนี้ของประเทศไทย กระทรวงยุติธรรม ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามมาตรการแก้ไข ปัญหาหนี้สิน ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อีกทั้งต้องเกิดจากความสมัครใจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย สร้างการตระหนักรู้ และเข้าใจ เพื่อเลือกใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ใน การยุติข้อพิพาททางแพ่ง และข้อพิพาททางอาญาตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทพ.ศ. 2562ประกอบด้วย การไกล่เกลี่ยหนี้สินก่อนฟ้อง ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562  และหลังศาล มีคำพิพากษา ตามระเบียบกรมบังคับคดี ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2558 เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลิสซิ่ง ที่ผิดนัดชำระหนี้เข้าเกณฑ์ฟ้อง หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา เข้าถึง กระบวนการยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผน และสร้างวินัยทาง การเงินให้แก่ประชาชน เป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนต่อไป

น.ส.ดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดงานในจังหวัดชุมพร ในครั้งนี้ กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2568 จำนวน 2 วัน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี สำนักงานยุติธรรมจังหวัดชุมพร สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชุมพร ร่วมบูรณาการ กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ได้เชิญชวนลูกหนี้เข้าร่วมงานทั้ง 2 วัน จำนวนกว่า 3,472 ราย ทุนทรัพย์รวม 230 ล้านบาท ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ ในกรณีก่อนฟ้องคือการผ่อนผันการชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับลดดอกเบี้ย ลดค่างวดรายเดือนงดฟ้องดำเนินคดี และรับเงื่อนไขปลดผู้ค้ำประกัน สำหรับในส่วนของชั้นบังคับคดี หรือหลังคำพิพากษา ประโยชน์ที่จะได้รับคือการขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับ ลดจำนวนเงินผ่อนชำระหนี้ งดยึดทรัพย์ งดขายทอดตลาด ลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับคดี และยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร 1111 กด 77 และสายด่วนกรมบังคับคดี โทร 1111 กด 79 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านพลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ประจำสำนัก เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้จัดงาน“มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความ เป็นธรรม” ปีที่ 1 มาแล้ว ทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 89 ครั้ง ช่วยเหลือลูกหนี้ได้ จำนวน 131,303 ราย จำนวนทุนทรัพย์ 23,901.84 ล้านบาท แยกเป็นลูกหนี้ก่อนฟ้อง ช่วยเหลือได้ 66,172 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 11,217.04 ล้านบาท ลูกหนี้ หลังศาลมีคำพิพากษา ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์ จำนวน 66,131 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 12,684.8 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ กยศ. ครั้งที่ผ่านมา มีการคำนวนยอดหนี้ใหม่ 3.65 ล้านบัญชีเสร็จแล้ว ผู้กู้ 2.98 ล้านราย ได้รับประโยชน์ ช่วยลดหนี้ผู้กู้เป็นเงินกว่า 56,326 ล้านบาท ปลดภาระผู้ค้ำได้ 2.8 ล้านราย

พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ประจำสำนัก เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสำหรับจังหวัดชุมพรมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดรายได้เข้ามาจำนวนมาก แต่ทั้งนี้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนกลับสวนทางกับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับประชาชนที่มีรายได้น้อย ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น มีการกู้ยืมเงินทั้งในระบบและนอกระบบเพื่อนำมาใช้จ่ายและต่อยอดการลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอพูดการมีหนี้ถือว่าเป็นการมีเกียรติ อย่าท้อแท้ อย่าทำร้ายตัวเอง เพราะวันนี้รัฐบาลได้ลงมาช่วยเหลือ พร้อมที่จะผลักดันทุกรูปแบบ ที่สามารถจะช่วยเหลือประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินภายในกรอบที่ทำได้ แต่ทั้งนี้ลูกหนี้ทุกคนก็ต้องยอมรับในสภาพหนี้ที่สร้างมาด้วย คือหัวใจหลักของความเป็นหนี้ คือจะต้องมีวินัยและยอมรับภาระที่จะต้องชดใช้คืนเจ้าหนี้ ดังนั้นเราจะเดินไปด้วยกันโดยรัฐบาลจะช่วยดูแลทั้งสองฝ่ายเพราะทุกคนคือคนไทยที่รัฐบาลจะต้องลงมาช่วยเหลือดูแลให้พ้นผ่านวิกฤติต่อไป

ในขณะเดียวกัน น.ส.ธนภรณ์ พานทอง อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 80/1 ม.12 ต.บางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร ยอมรับว่า การที่ตนเองมาเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้ ภายใต้ “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ในครั้งนี้ ก็สืบเนื่องมาจาก ที่ผ่านมาครอบครัวตนเองยากจน จึงจำเป็นจะต้องกู้เงิน กยศ.เพื่อนำเงินมาเล่าเรียน ตั้งแต่ ม.4 จนถึง ม.6 และหลังจากที่จบมัธยมแล้ว ก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีด้วยเงินทุนของตนเองที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย และเงินบางส่วนก็แบ่งชำระหนี้กู้ยืม กยศ. แต่ต่อมาตนเองมีครอบครัวและมีลูก มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่ค้างจ่าย กยศ.ซึ่งเหลืออยู่เพียง 2 หมื่นกว่าบาท ทบต้นทบดอกทวีคูณ รวมเป็นเงินกว่า 7 หมื่นบาท ซึ่งตนก็ยอมรับสภาพหนี้ที่ก่อไว้ จึงได้เข้าร่วมโครงการนี้เพื่อต้องการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ โดยขอขยายโอกาส ขยายเวลาและต่อรองการชำระหนี้ที่เหลือ ตามที่กำลังตนเองสามารถผ่อนจ่ายได้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมต่อว่า จากการสังเกตการณ์ในวันนี้พบว่า ผู้ที่เดินทางมาร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้ จะเป็นกลุ่ม กยศ.ที่กู้เงินเพื่อนำไปศึกษา เสียเป็นส่วนใหญ่ และรองลงมาคือกลุ่มกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่จับกลุ่มกู้เงินเพื่อทำโครงการสร้างอาชีพแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงไม่เงินนำมาจ่ายคืนกองทุน