ECO & ESG

พบซากดึกดำบรรพ์พระแสง-สุราษฎร์ธานี สนง.ทรัพยากรธรณีเขต4เร่งตรวจสอบ



สุราษฏร์ธานี-สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต  4 โดยพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ บริเวณโรงเรียนบ้านควนนิยม อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามที่เป็นข่าวทางช่องทางสื่อออนไลน์ ร่วมกับ นายสมจิตร คล้ายประสงค์ ผู้พบซากดึกดำบรรพ์ และชาวบ้านในพื้นที่

จากการสำรวจซากดึกดำบรรพ์จำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่หมู่ที่ 4, 6 และ 8 ตำบลสินปุน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะภูมิประเทศแบบที่ราบลอนคลื่น มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำสวนปาล์ม ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำเพื่อการเกษตร เมื่อขุดหน้าดินลึกลงไปประมาณ 1 ถึง 2 เมตร จะพบชั้นหินดานซึ่งประกอบด้วยหินปูน หินโคลนเนื้อปูน หินทรายเนื้อปูน สีเทาถึงสีเทาดำ มีซากดึกดำบรรพ์หอยสองฝา หอยฝาเดียว ที่มีความแตกต่างกันมากกว่า 5 ชนิด ขนาดตั้งแต่ 0.5 ถึง 5 เซนติเมตร อัดแน่นอยู่ในชั้นหินดาน เมื่อพิจารณาลักษณะเนื้อหินและซากดึกดำบรรพ์ที่พบ หินดังกล่าวจัดอยู่ในหมวดหินคลองมีน ยุคจูแรสซิก (อายุประมาณ 200 ถึง 145 ล้านปี) มีสภาพแวดล้อมการสะสมตัวแบบทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่ง (lagoon) 

ซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวจัดเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่พบได้ทั่วไป ไม่ต้องมีการกันเขตพื้นที่ ทั้งนี้ได้มีการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ภารกิจหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณีให้ประชาชนรู้จักมากยิ่งขึ้น

สิทธิเณศ เห้งทับ สุราษฎร์ธานี