EDU Research & Innovation

นักวิชาการมธ.วิเคราะห์เลือกตั้งท้องถิ่น กระแสพรรคดีไม่การันตีชนะเลือกตั้ง



กรุงเทพฯ-“นักวิชาการธรรมศาสตร์” ชี้การเลือกตั้งเทศบาลครั้งนี้มีคนรุ่นใหม่ลงสมัครอย่างมีนัยสำคัญ ระบุในการเลือกตั้งท้องถิ่นกระแสความนิยมต่อพรรคไม่สอดคล้องหรือสัมพันธ์ต่อชัยชนะ แต่จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า พร้อมค้านข้อกำหนดที่บังคับให้นักการเมืองดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เหตุไม่สมเหตุสมผล ย้ำหลักการสำคัญ นักการเมืองจะอยู่หรือไปควรวินิจฉัยผ่านกระบวนการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น

รศ. ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ หัวหน้าสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับเทศบาลทั่วประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ ที่ 11 พ.ค. 2568 นี้ มีสิ่งที่น่าสนใจคือ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสมัครเป็นตัวแทนการเมืองท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงแนวนโยบายที่ใช้สำหรับการหาเสียงได้มีการนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความก้าวหน้าและความสร้างสรรค์เชิงนโยบาย อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะเห็นพรรคการเมืองและนักการเมืองระดับชาติ ลงมาให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ เพราะการเลือกตั้ง อบจ. เป็นดัชนีชี้วัดความนิยม หรือฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองและตัวแทนในแต่ละเขตการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี โดยผ่านการเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) รวมไปถึงการใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างฐานและกระชับพลังของหัวคะแนนในเขตต่างๆ ด้วย ขณะที่การเลือกตั้งในระดับเทศบาลอาจจะเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเชื่อมโยงอยู่บ้าง ภายหลังพบว่ามีบางพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาชน ได้ประกาศจุดยืนและเอาจริงเอาจังกับการสนับสนุนการเมืองท้องถิ่นในทุกระดับ ด้วยเชื่อว่าการสร้างฐานรากจากเวทีท้องถิ่นจะเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมืองระดับชาติได้ในระยะยาว แต่ถึงกระนั้น ผลจากการเลือกตั้งระดับ อบจ. ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคประชาชนพ่ายแพ้และพลาดเป้าหมายไปในหลายๆ จังหวัด ย่อมเป็นตัวอย่างที่สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่ากระแสความนิยมที่มีต่อตัวพรรคไม่สอดคล้องหรือสัมพันธ์ต่อชัยชนะในการเมืองท้องถิ่น แต่จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้พรรคประชาชนที่ส่งต่อจุดยืนมาจากพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ หันมาให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นมากขึ้น แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นมีการกระจายอำนาจมากว่า 20 ปี ได้ทำให้บทบาทการเมืองท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ จนทำให้อดีตรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวนไม่น้อย เลือกที่จะลงมาทำงานในสนามนี้

“แม้ว่านักการเมืองท้องถิ่นในหลายๆ ที่จะมีความคิดก้าวหน้าและริเริ่มแนวทางนโยบายใหม่ๆ แต่ในทางปฏิบัติ ผู้บริหารเหล่านั้นยังต้องพบกับข้อจำกัดจากกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ มากมายที่ไม่เอื้อให้กับความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ได้ทะลุกรอบ เพื่อความคล่องตัวในการทำงานบริการประชาชน แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมว่า ท่ามกลางอุปสรรคที่มีผู้บริหารท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยยังสามารถขับเคลื่อนและผลักดันการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้การเมืองในระดับท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง” รศ. ดร.วสันต์ กล่าว

รศ. ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า อยากจะฝากถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้งอย่าง กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าให้เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น มากพอๆ กับการเลือกตั้งระดับชาติ ช่วยเอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกและความคล่องตัว ผ่านการเลือกวัน เวลา เลือกตั้งที่พร้อมๆ กันทั่วประเทศ โดยต้องสอดรับกับวิถีชีวิตของประชาชนซึ่งจะทำให้สัดส่วนจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ส่วนตัวมองว่าข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้นักการเมืองทุกระดับดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เป็นข้อบังคับที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะการอนุญาตให้นักการเมืองคนใดอยู่ต่อหรือไปจากตำแหน่งควรอยู่ในการวินิจฉัยผ่านกระบวนการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น ไม่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐในการเข้าไปจัดแจงเรื่องดังกล่าว

“หากนักการเมืองคนไหนที่มีความสามารถในการบริหารจนสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนในพื้นที่และต้องการให้อยู่ต่อ ข้อบังคับเช่นนี้จึงสวนทางกับเจตนารมณ์ของประชาชน จริงอยู่ว่าในบางประเทศ อาจจะมีการกำหนดวาระไว้เช่นนี้เหมือนกัน ทว่าไม่ได้มีการบังคับใช้แบบแบบปูพรมทั่วทั้งประเทศ และทุกระดับแบบของเรา แต่มักจะเกิดขึ้นในท้องถิ่น ท้องที่ใด ที่ประชาชนเกิดฉันทามติร่วมกันว่าควรจะมีการกำหนดวาระนักการเมืองเอาไว้จึงจะมีการกำหนดข้อกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมา” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว