In News
ดีอีเตือนข่าวปลอมทำให้สับสน-เข้าใจผิด 'เปิดชื่อ22จว.ที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว'

กรุงเทพฯ-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เปิดรายชื่อ 22 จังหวัด ที่ปลอดภัยที่สุดจากแผ่นดินไหว” รองลงมาคือเรื่อง “เปิดระดมทุนช่วยเหลือทหารบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล สับสน และเข้าใจผิดในสังคม
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 2 – 8 พฤษภาคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 822,280 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 670 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 652 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 18 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 202 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 90 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 113 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 40 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 22 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 10 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 17 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นยังคงเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องของภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความมั่นคงของประเทศ การให้บริการของหน่วยงานรัฐ และเรื่องของสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง เปิดรายชื่อ 22 จังหวัด ที่ปลอดภัยที่สุดจากแผ่นดินไหว
อันดับที่ 2 : เรื่อง เปิดระดมทุนช่วยเหลือทหารบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
อันดับที่ 3 : เรื่อง ประกาศราคาซื้อขายอวัยวะมนุษย์ในประเทศไทย
อันดับที่ 4 : เรื่อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เดินทางไปสหรัฐอเมริกาไม่ต้องใช้วีซ่า
อันดับที่ 5 : เรื่อง กัมพูชาให้ไทยขุดหลักแดนออก เนื่องจากล้ำเขตประเทศกัมพูชา
อันดับที่ 6 : เรื่อง พบแคมป์คนงานจีนใช้สิทธิฟรีวีซ่า อยู่ในโรงไฟฟ้า TPIPP จ.สระบุรี
อันดับที่ 7 : เรื่อง PEA ส่งอีเมลแจ้งเตือนให้อัปเดตข้อมูลการเรียกเก็บเงิน
อันดับที่ 8 : เรื่อง ดื่มน้ำเต้าหู้ผสมน้ำมะนาว ป้องกันอัมพฤกษ์-อัมพาต
อันดับที่ 9 : เรื่อง ตม. เปิดเว็บไซต์ลงทะเบียนบัตรขาเข้าประเทศแบบเก็บค่าธรรมเนียม รองรับนักท่องเที่ยว VIP
อันดับที่ 10 : เรื่อง กลาโหม เพิ่มค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ให้ทหารผ่านศึกทุกชั้นบัตร
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “เปิดรายชื่อ 22 จังหวัด ที่ปลอดภัยที่สุดจากแผ่นดินไหว” กระทรวงดีอี ได้ตรวจสอบร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ และขอชี้แจงว่า จากการที่มีผู้เผยแพร่คลิปรายชื่อ 22 จังหวัด โดยกล่าวว่าเป็นจังหวัดที่มีความปลอดภัยที่สุดจากแผ่นดินไหว ซึ่งจากข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง (active faults) กระจายตัวอยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ จำนวน 16 กลุ่มรอยเลื่อน ซึ่งพาดผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ใน 23 จังหวัด 124 อำเภอ 421 ตำบล 1,520 หมู่บ้าน และอยู่ในจังหวัดที่มีการอ้างถึง 22 จังหวัดข้างต้นด้วย เช่น
กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ - พาดผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ เลย
กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ - พาดผ่านจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร
กลุ่มรอยเลื่อนระนอง - พาดผ่านจังหวัดระนอง ชุมพร พังงา ประจวบคีรีขันธ์
กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย - พาดผ่านจังหวัดกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่า ทุกจังหวัดหรือพื้นที่ที่รอยเลื่อนพาดผ่าน จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแผ่นดินไหวเสมอไป
ทั้งนี้การเกิดแผ่นดินไหว จะส่งผลกระทบแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับการเกิดและความรุนแรงของแผ่นดินไหว เช่น ขนาดของแผ่นดินไหวหรือตัวเลขที่วัดพลังงานที่ปลดปล่อยจากจุดศูนย์กลาง, ความลึกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นระดับตื้นจะส่งผลแรงกว่าที่ลึก, ระยะห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว พื้นที่ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะรับรู้แรงสั่นสะเทือนเบากว่าพื้นที่ที่อยู่ใกล้, สภาพดินและโครงสร้างใต้ดินของพื้นที่นั้น ในพื้นที่ที่มีดินอ่อนจะรับรู้สั่นสะเทือนมากกว่าพื้นที่ที่เป็นหินแข็ง
ในส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “เปิดระดมทุนช่วยเหลือทหารบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา” กระทรวงดีอี ได้ตรวจสอบร่วมกับกองทัพบก กระทรวงกลาโหม พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงกรณีความเป็นอยู่ของกำลังพลชายแดนตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับความยากลำบากของกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาไม่เป็นความจริง
ขอยืนยันว่า มีการดูแลสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้บังคับบัญชาในทุกระดับชั้นได้ให้ความสำคัญการดูแลกำลังพลในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ที่พักอาศัย สาธารณูปโภค และสวัสดิการที่จำเป็น เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีการนำรถถังเข้าประจำการภาคสนามในพื้นที่ชายแดนที่ถูกกล่าวอ้างในข้อมูลที่เผยแพร่
ดังนั้น ก่อนการแชร์ข้อมูลใด ๆ ควรมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับหน่วยงานราชการและความมั่นคง ป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมได้
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความวิตกกังวล หรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com