Biz news

'อมตะ'แนะผปก.ไทยปรับตัวรับผลกระทบ 'ภาษีทรัมป์'ยันมั่นใจศักยภาพอาเซียน



กรุงเทพฯ-บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA แนะผู้ประกอบการไทยปรับตัวรับภาษีทรัมป์กระจายตลาดส่งออกสินค้า ลดพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สร้างฐานการค้าใหม่ ถอดบทเรียนโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ดึงคนเก่งและโนฮาวน์มาพัฒนาศักยภาพการผลิต และคนในประเทศ สร้างฐานการผลิตสินค้าใหม่ ป้อนตลาดทั่วโลก 

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า จากนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐ ที่เรียกเก็บจากประเทศผู้ส่งออกทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เชื่อว่าทุกประเทศที่เป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออกจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน  แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลการเจรจา ซึ่งผู้ผลิตต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เช่นการขยายไปยังตลาดใหม่ๆ  ลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯเพียงอย่างเดียว ปรับแผนการผลิตโดยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สอดรับกับทิศทางของตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการกระจายสินค้าไปได้ทั่วโลก

ขณะเดียวกันมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศในอาเซียน มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 10% ในทุกๆปี  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการค้าในอาเซียน และจีนเป็นตลาดใหญ่ โดยเฉพาะจีน ที่มีจำนวนประชากรและอัตราการเติบโตรายได้ต่อหัวค่อนข้างสูงทำให้ยังเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน โดยอาศัยความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ที่สามารถส่งสินค้าไปได้ ทั้งระบบขนส่งโดย รถยนต์ และระบบราง เป็นต้น  

“สิ่งที่เกิดขึ้นเราต้องปรับตัวให้ได้ เพราะผู้ประกอบการที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ไม่ได้มีเป้าหมายส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ อย่างเดียว แต่ส่งสินค้าไปยังทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ แอร์  ทำให้เกิดกระจายตลาดไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จากอดีตที่ตลาดส่งออกของไทยให้ความสำคัญกับ 3 กลุ่มประเทศหลักประกอบด้วย สหรัฐฯ  ยุโรป และญี่ปุ่น  ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อย 20% ในแต่ละประเทศ แต่สถานการณ์ปัจจุบันจะพึ่งพิงตลาดในอาเซียน และจีนเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วน ของ 3ประเทศหลักเดิม มีสัดส่วนลดลงมาอย่างต่อเนื่อง” นายวิกรมกล่าว 

นายวิกรม กล่าวว่า การปรับตัวที่จะสามารถยังคงรักษาการเติบโตต่อไปได้ ต้องนำบทเรียนของประเทศต่าง ๆ ที่พัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง แม้ว่าต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในทุกรูปแบบมาโดยตลอด เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งสิงคโปร์ ที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ  โดยเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ จากการเปิดรับ บุคลากร ที่มีความสามารถจากประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมมือกับคนในประเทศ ขณะที่ประเทศไทยควรนำมาเป็นแบบอย่าง เช่น ดึงคนเก่งจากต่างประเทศมาเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและบุคคลากร  รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี หรือ โนฮาวน์ มาพัฒนาการผลิตสินค้าใหม่ๆตรงกับความต้องการของตลาด  เพื่อยกระดับสินค้าไทย 

“ปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก 80% เป็นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง สามารถกระจายไปยังทั่วโลก และพึ่งพิงตลาดในประเทศเพียง 20%” นายวิกรมกล่าว


 
ด้านนายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวว่า  เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทยและปรับตัวเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลจากขึ้นภาษีของสหรัฐฯเนื่องจากเรามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและให้บริการที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจระดับโลก ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการเลือกไทยเป็นฐานการผลิตและการลงทุน รวมถึงศักยภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและเป็นศูนย์กลางทางการผลิตในภูมิภาคเอเชียทำให้เราสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง 

สำหรับแผนเดินหน้าของของกลุ่มอมตะในปีนี้ ยังคงรักษาการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากบริษัทกลุ่มอมตะ มีนิคมอุตสาหกรรมในหลายประเทศที่รองรับการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนิคมฯ อมตะในไทยประเทศเวียดนาม    และที่อยู่ระหว่างการพัฒนาใน สปป.ลาว   ดังนั้นการตัดสินใจของนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในนิคมฯ ต้องใช้องค์ประกอบหลายด้านในการย้ายฐานการผลิต เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว ต้องพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพแรงงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการลงทุน  ที่สำคัญผู้ประกอบได้มีการเตรียมตัว และคาดการณ์เพื่อรับผลกระทบที่เกิดขึ้นของตลาดสหรัฐฯล่วงหน้าอยู่แล้ว และส่วนใหญ่เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์เกิดขึ้นไว้ในระดับหนึ่ง