In News

นายกฯเดินหน้าระบายผลไม้ไทยล้นตลาด เข้มคุณภาพและจัดงานเร่งระบายผลผลิต



กรุงเทพฯ-นายกรัฐมนตรี เดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ พร้อมรุกตลาดในและต่างประเทศ ด้าน“รมว.นฤมล” เผย หลังร่วมนายกฯ พบผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ ย้ำ Fruit Board คุมเข้มสินค้าให้มีมาตรฐาน ผ่าน 3 มาตรการ พร้อมเพิ่มช่องทาง e-Commerce ช่วยเกษตรกรไทยกระจายผลผลิต

วันนี้ (13 พฤษภาคม 2568)  เวลา 09.30 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการจัดแสดงกิจกรรมโปรโมทผลไม้ และพบปะผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ พร้อมชมนิทรรศการ“เกษตรกรไทยผลิตผลไม้คุณภาพได้มาตรฐาน” และ “THAI FRUITS FESTIVAL 2025 BY DIT” โดยมี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะผู้บริหาร และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีได้รับฟังวัตถุประสงค์ของกิจกรรมประชาสัมพันธ์การจัดแสดง “รถโมบายผลไม้ พร้อมพบปะผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้” โดยรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรผู้ปลูกผลไม้ในช่วงฤดูกาลผลไม้ ปี 2568 จากปัญหาทางด้านการเกษตรผลไม้ล้นตลาด อาทิ มะม่วง มังคุด เงาะ และทุเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม และภาคเอกชน เร่งดำเนินแผนมาตรการรับซื้อผลไม้จากเกษตรในแหล่งผลิต พร้อมขยายการจำหน่ายในประเทศผ่าน 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การรับซื้อเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค รับซื้อเพื่อกิจกรรม CSR รับซื้อเพื่อบริโภคในองค์กร รับซื้อโดยหน่วยงานภาครัฐ

ทั้งนี้ เพื่อคุมเข้มคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย ผ่านคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินมาตรการยกระดับคุณภาพผลไม้สู่ตลาดสากลด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 ส่งเสริมการปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิตผลไม้ โดยการยกระดับคุณภาพ บรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาตรการที่ 2 เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม กำกับคุณภาพมาตรฐานสุขอนามัยพืช ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่แปลงผลิต ล้ง ตลอดจนกระบวนการส่งออก กระจายตัวของผลผลิต โดยบริหารจัดการยืดระยะเวลาการออกผลสู่ตลาดนานขึ้น ทำให้ตลาดไม่กระจุกตัว มีข้อมูลในการวางแผนที่แม่นยำขึ้น  และมาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดสินค้าผลไม้ เน้นการทำงานแบบบูรณาการ โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคีเกษตรกร ภายใต้ 7 มาตรการ 25 แผนงาน ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ ให้ดำเนินมาตรการการส่งเสริมการขาย โดยการขยายตลาดผลไม้ไทยในต่างประเทศ ผ่านการร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (Trade Fairs) และการส่งเสริมการขายในต่างประเทศ (Trade Promotion) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและขยายตลาดผลไม้ไทยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาผลไม้ล้นตลาด เพื่อรักษาราคาผลไม้ ให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนขายผลไม้ในราคาที่สูง เพื่อสร้างรายได้ต่อไป พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณพันธมิตรภาคเอกชนที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้

“ผลไม้ไทยคือสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นเอกลักษณ์ รัฐบาลจะเดินหน้าโปรโมทอย่างเต็มที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรไทยได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมและมั่นคง นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคผลไม้ในประเทศ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกษตรกร ยกระดับราคาผลไม้ให้เหมาะสมอย่างทั่วถึงตลอดฤดูกาลโดยรณรงค์บริโภคผลไม้ผ่านสื่อโซเชียล โดย KOL ที่มีชื่อเสียง เพื่อขยายฐานผู้บริโภค รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริม เช่น การประกวดเมนูอาหารจากผลไม้สดและนวัตกรรม งาน Thai Fruits Festival ซึ่งคาดว่าจะช่วยระบายผลไม้ในประเทศได้กว่า 346,500 ตัน จากเป้าหมายรวม 730,000 ตัน” นายกรัฐมนตรี ระบุ

“รมว.นฤมล”เผยหลังร่วมนายกฯพบผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ 

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจัดกิจกรรมนายกรัฐมนตรีพบปะผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า ช่วงฤดูกาลผลไม้ ปี 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้คุมเข้มคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย โดยดำเนินการผ่านคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ซึ่งได้บริหารจัดการผลไม้ฤดูการผลิต ปี 2568 เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยผลิตผลไม้คุณภาพได้มาตรฐานสู่ตลาดสากล ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่

มาตรการที่ 1 ส่งเสริมการปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิตผลไม้ โดยการยกระดับคุณภาพ บรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการผลิตระดับสวน ตามมาตรการ GAP รวมถึงบริหารจัดการสภาพอากาศ ธาตุอาหาร น้ำ โรค แมลงศัตรูพืช

มาตรการที่ 2 เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม กำกับคุณภาพมาตรฐานสุขอนามัยพืช ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่แปลงผลิต ล้ง ตลอดจนกระบวนการส่งออก กระจายตัวของผลผลิต โดยบริหารจัดการยืดระยะเวลาการออกผลสู่ตลาดนานขึ้น ทำให้ตลาดไม่กระจุกตัว มีข้อมูลในการวางแผนที่แม่นยำขึ้น ช่วยบริหารตลาดได้ดียิ่งขึ้น และ มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดสินค้าผลไม้ เน้นการทำงานแบบบูรณาการโดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคีเกษตรกร ภายใต้ 7 มาตรการ 25 แผนงาน ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษามาตรฐานและยกระดับสินค้าเกษตรไทยอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมามีแผนติดตามและบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 ในช่วงพฤษภาคม - มิถุนายน ที่กำลังจะออกผลผลิตสู่ท้องตลาด ได้แก่ เตรียมการบริหารจัดการน้ำ การควบคุมผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ป้องกันการสวมสิทธิ์ การเพิ่มประสิทธิภาพห้องปฏิบัติการตรวจรับรองผล การสุ่มตรวจคุณภาพผลไม้อย่างเข้มข้น การส่งเสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกรเตรียมการรับมือภัยแล้งและพายุฤดูร้อน (Climate Change) และประชาสัมพันธ์ให้เกิดการบริโภคผลไม้ในประเทศ รวมถึงอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างแดนและข้ามแดน เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังดำเนินการผ่าน 5 แนวทาง ได้แก่ แนวทาง 1 บริหารจัดการผลผลิตโดยวางแผนการกระจายตัวของผลผลิต ใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการ ยืดระยะเวลาการออกผล  ทำให้ตลาดไม่กระจุกตัว ส่งผลให้ผลผลิตภาคตะวันออกและภาคใต้ไม่เกิดการกระจุกตัว แนวทาง 2 ควบคุมคุณภาพตั้งแต่แปลงปลูก ยกระดับมาตรฐาน GAP สำหรับทุเรียน ตั้งจุดบริการตรวจก่อนตัด ป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด แนวทาง 3 การบริหารจัดการกลุ่มเกษตรกร เพิ่มบทบาทแปลงใหญ่และสหกรณ์ในการควบคุมปริมาณและคุณภาพผลผลิต แนวทาง 4 การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จัดเกรดผลไม้ สำหรับผลผลิตที่ตกเกรด นำไปแปรรูป เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ฟรีซดราย หรือนำไปสกัดทางเภสัชกรรม แนวทาง 5 การเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งเสริมช่องทาง e-Commerce สำหรับเกษตรกร

ด้าน นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขาคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์การผลิตผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ ลำไย มะม่วง ทุเรียน และมังคุด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปี 2568 ที่มีจำนวน 3.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีปริมาณ 2.78 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 22%

โดย ลำไย ในภาคเหนือ ปี 2568 คาดว่ามีปริมาณ 1.64 ล้านตัน และลำไยในภาคตะวันออกคาดว่าปริมาณผลผลิต 2.1 แสนตัน และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดถึง 60% ในเดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายน

มะม่วง ในภาคเหนือ ปี 2568 คาดว่ามีปริมาณ 1.08 แสนตัน โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุด 50% ในเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม ส่วนมะม่วงในภาคตะวันออกคาดว่าปริมาณผลผลิต 33,000 ตัน และออกสู่ตลาดมากที่สุดถึง 60% ในเดือนพฤษภาคม

ทุเรียน ในภาคตะวันออก ปี 2568 คาดว่ามีปริมาณ 8.71 แสนตัน โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดถึง 55% ในเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน และทุเรียนในภาคใต้คาดว่าปริมาณผลผลิต 7 แสนตัน และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดถึง 70% ในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

มังคุด ในภาคตะวันออก ปี 2568 คาดว่ามีปริมาณ 2.58 แสนตัน โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดถึง 70% ในเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน และมังคุดในภาคใต้คาดว่าปริมาณผลผลิต 1.47 แสนตัน และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดถึง 50% ในเดือนสิงหาคม ปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ในปีนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญและสภาพอากาศแปรปรวน ปริมาณผลผลิตน้อย จึงทำให้ได้พักต้นสะสมอาหาร สภาพต้นสมบูรณ์พร้อมออกดอกติดผลได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับปีนี้สภาพอากาศหนาวเย็น เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นทั้ง 4 ชนิด ประกอบกับทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมา เริ่มให้ผลผลิตเป็นปีแรกเพิ่มขึ้น จำนวน 72,908 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.69