EDU Research & Innovation

Learn to Earnปั่นพลังครูไทยเปิดวิชันส์ สู่อาชีพอนาคตส่งต่ออนาคตเด็กไทย



ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวและไม่หยุดที่จะเรียนรู้คือกุญแจสำคัญสู่ความอยู่รอด มูลนิธิเอสซีจี จึงได้ผลักดันแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ร่วมกับ InsKru จัดกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ “Human Library” ขึ้นในงาน InsKru Festival 2025 ที่เปิดพื้นที่ให้คุณครูทั่วประเทศได้พบปะกับ “หนังสือมนุษย์” ตัวจริงจากหลากหลายอาชีพสุดฮอตในโลกปัจจุบัน ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ตรง พร้อมเผยเส้นทางอาชีพ และบอกเล่าทักษะที่จำเป็น เพื่อให้คุณครูนำไปจุดประกายเป็นไอเดียให้เด็กรุ่นใหม่ได้เตรียมพร้อมสู่โลกการทำงานในอนาคต

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ บางอาชีพที่เคยถูกมองข้ามกลับกลายเป็นอาชีพดาวรุ่งพุ่งแรงด้านสาธารณสุข เช่น ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด เป็นต้น หรือบางอาชีพที่เติบโตมาสักพักแต่อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่เมื่อโลกให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อาชีพ “นักออกแบบการเรียนรู้” ก็กลายเป็นที่ต้องการจากทั้งสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาบุคลากร หรือแม้แต่อาชีพสุดล้ำอย่าง “ที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ใช้ความรู้ด้านสถิติและเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ซึ่งแต่ละอาชีพที่มาร่วมงาน Human Library ยังได้มอบมุมมองและแนวคิดดีๆ ที่คุณครูสามารถนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียนได้อย่างแน่นอน
 
มะโหนก ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ นักออกแบบการเรียนรู้ (Learning Designer) ผู้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท BlackBox ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้าน Visual Training และเป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบการเรียนรู้ระดับแถวหน้าของประเทศไทย  ในฐานะที่มาร่วมเป็น “หนังสือมนุษย์” ในครั้งนี้ มองว่า การเรียนรู้ไม่ได้มีแค่ในตำรา แต่ต้องสร้างความรู้สึกร่วมไปกับเนื้อหา ระบบการศึกษาจึงควรทำงานร่วมกับนักสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนา Soft Skills ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการอยู่รอดในโลกยุคใหม่ ทำให้อาชีพนักออกแบบการเรียนรู้มีความท้าทายในการสร้างสรรค์คอร์สที่โดนใจลูกค้า ซึ่งอาชีพนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่จบครุศาสตร์เท่านั้น แต่คนที่มีความรู้ด้านการออกแบบกิจกรรม จิตวิทยาการเรียนรู้ และที่สำคัญคือ มี Soft Skills การเข้าใจผู้คน การฟัง และการสังเกต จะสามารถก้าวเข้ามาในสายงานนี้ได้อย่างน่าสนใจ

 มะโหนก ยังเสริมเกี่ยวกับแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ว่าในมุมของตนมองว่ามีถึง 3 ระดับ เริ่มจากการอยู่รอดในการทำอาชีพด้วย Hard Skills ที่ระบบการศึกษาสามารถมอบให้  ตามด้วยการอยู่รอดอย่างมีความสุข และสุดท้ายคือการอยู่รอดอย่างมีคุณค่าและเติบโตทางจิตวิญญาณ ซึ่งสองระดับหลังนี้ต้องอาศัยการเรียนรู้นอกห้องเรียนควบคู่กันไป เพื่อให้คนหนึ่งคนมีทั้งความรู้ความสามารถ (Hard Skills) และทักษะชีวิต (Soft Skills) ที่สมบูรณ์  แม้ว่าอาชีพนักออกแบบการเรียนรู้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นอาชีพที่กำลังมาแรงในยุคที่ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่ออยู่รอด เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากอาชีพที่สอนการเรียนรู้นอกตำราแล้ว กระแสของสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ได้สร้างอาชีพใหม่ที่น่าจับตามองอย่าง “ที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลตลาดให้กับนักลงทุนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่ในพอร์ต โดย แน็ก และ เฟิร์ส สองที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลจากบริษัท Merkle Capital เป็นบริษัทที่จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของประเทศไทย ในเครือของบริษัท Cryptomind Group  และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ฉายภาพให้เห็นว่า โลกการเงินยุคใหม่เป็นสิ่งที่คุณครูควรทำความเข้าใจ  สำหรับคนที่สนใจสายงานนี้ Hard Skills ที่จำเป็นคือความรู้ด้านการลงทุน เศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยี และเศรษฐศาสตร์ดิจิทัล โดยเน้นที่ศาสตร์แห่งสถิติมากกว่าวิทย์-คณิต คุณครูสามารถสอดแทรกแนวคิดเรื่องการบริหารความเสี่ยง และการรู้เท่าทันการเงินเพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ให้กับนักเรียนได้ ส่วน Soft Skills ที่สำคัญคือทักษะการสื่อสารที่เข้าใจง่าย หลักจิตวิทยา และจริยธรรมในการทำงาน

แน็ก และ เฟิร์ส ยังฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลว่า การเรียนรู้ด้วยตนเองแบบออนไลน์ ต้องมีวิจารณญาณในการเลือกรับข้อมูล (critical thinking) ควรศึกษาจากหนังสือควบคู่ไปกับการติดตามอินฟลูเอนเซอร์อย่างมีสติ หลักสำคัญของการลงทุน คือการพิจารณาข้อมูลควบคู่ไปกับจิตวิทยา การเริ่มต้นเรียนรู้เร็วเป็นเรื่องดี แต่ความสำเร็จไม่ได้มาจากแค่ Hard Skills หรือ Soft Skills เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยประสบการณ์อีกด้วย

ปิดท้ายด้วยอาชีพในสายสุขภาพที่ยังอยู่ในกระแสความนิยมนั่นคือ “ทันตแพทย์” ทพญ.สิรินันท์ นคเรศไอศูรย์ หรือหมอตุ้ม ทันตแพทย์จากสถาบันทันตกรรม อีกหนึ่ง “หนังสือมนุษย์” ได้เล่าว่า ในวงการทันตกรรมมีหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักวิชาการทันตาภิบาล และช่างทันตกรรม  ซึ่งแต่ละอาชีพก็มีเส้นทางการศึกษาและความก้าวหน้าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะช่างทันตกรรมที่เป็นที่ต้องการสูงและมีความอิสระในการทำงาน

หมอตุ้ม เน้นย้ำว่านอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ทันตแพทย์และบุคลากรในวงการนี้ จำเป็นต้องมี Soft Skills รอบด้าน เพราะเป็นการทำงานใกล้ชิดกับความรู้สึกของผู้ป่วย ทักษะสำคัญ ได้แก่ ความละเอียดและช่างสังเกต ทักษะด้านศิลปะ ความอดทน การมีสติ การคิดก่อนพูด มนุษยสัมพันธ์ที่ดี และทักษะในการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจและลดความกังวลให้กับผู้ป่วย รวมถึงการทำงานร่วมกับทีม

กิจกรรม Human Library โดยมูลนิธิเอสซีจีในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับคุณครูเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะสำคัญของการอยู่รอดในโลกยุคปัจจุบัน เมื่อคุณครูได้ฟังประสบการณ์จริงจากหลากหลายอาชีพ จะช่วยให้มีข้อมูลที่จับต้องได้ และนำไปใช้ในการแนะแนว สอนทักษะชีวิต หรือจุดประกายอาชีพในอนาคตให้นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวันที่โลกหมุนเร็วจนน่าตกใจ คุณครูไม่จำเป็นต้องรู้ทุกสิ่ง แต่การเปิดใจเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน คือกุญแจสำคัญที่จะพานักเรียนไปสู่เป้าหมายได้ไกลที่สุด