EDU Research & Innovation

ONE DAY with me: IT BANGMOD: พื้นที่ปล่อยของสร้างแรงบันดาลใจมจร.



กรุงเทพฯ-คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. จัดงาน “ONE DAY with me: IT BANGMOD” เปิดบ้านต้อนรับเยาวชนและคนทั่วไปให้สัมผัสชีวิตจริงของเด็กไอทีบางมด ผ่านกิจกรรมเวิร์กชอปและการแสดงผลงานของนักศึกษาชั้นปี 4 กับการพัฒนาเทคโนโลยี เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และ AI ที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาและอำนวยความสะดวกของคนรุ่นใหม่ ครอบคลุม 6 หมวดหมู่ ธุรกิจ สุขภาพ แพลตฟอร์ม ไลฟ์สไตล์ การศึกษา และงานวิจัย สะท้อนแนวคิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง พร้อมปั้นคนรุ่นใหม่ให้พร้อมทำงาน และสร้างสรรค์สังคมด้วยเทคโนโลยี งานนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวาระสำคัญ ครบรอบ 30 ปีแห่งการก่อตั้งคณะ SIT ที่มุ่งมั่นบ่มเพาะ และพัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมทั้งทักษะและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อก้าวสู่โลกการทำงานจริง และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมด้วยเทคโนโลยี

เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศกลายเป็นรากฐานของสังคมยุคใหม่ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. (SIT KMUTT) จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2538 ในฐานะคณะแห่งแรกของไทยที่เปิดสอนหลักสูตร IT โดยตรง มุ่งสร้างบัณฑิตที่มีทักษะจริง พร้อมทำงาน และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต กิจกรรม “ONE DAY with me: IT BANGMOD” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 จึงไม่ใช่แค่การเปิดบ้านเท่านั้น แต่คือการเปิดโลกของการเรียนรู้แบบไอทีบางมด ที่เน้นลงมือทำจริง แบ่งปันแรงบันดาลใจ และสะท้อนคำถามสำคัญของการศึกษาในวันนี้ที่ว่า “เราจะสร้างคนแบบไหนให้พร้อมรับมือกับอนาคตที่รออยู่?”

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เรียนรู้จากประสบการณ์จริง” (Experiential Learning) ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนการสอนใน SIT โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้นำเสนอผลงานเพื่อจบการศึกษารวมกว่า 30 ผลงาน ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีเพื่อธุรกิจ ไลฟ์สไตล์ การศึกษา จนถึงแพลตฟอร์มสุขภาพ โดยทุกผลงานล้วนพัฒนาจากโจทย์ปัญหาจริงของสังคม ผ่านการคิด วิเคราะห์ ทดลอง และลงมือสร้างจริงในห้องปฏิบัติการที่ใช้เครื่องมือมาตรฐานระดับอุตสาหกรรมที่คณะ SIT จัดเตรียมไว้ให้

ดร.สุณิสา สถาพรวจนา ผู้ช่วยคณบดีด้านกิจกรรมนักศึกษา SIT กล่าวว่า กิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่งานแสดงผลงานของนักศึกษาให้บุคคลภายนอกดูเท่านั้น แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตการทำงาน ไม่ใช่แค่การเรียนภาคทฤษฎีจากในห้องเรียนอย่างเดียว นักศึกษายังจะได้ฝึกตั้งแต่การวางแผนการทำงาน การสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ การนำเสนอผลงาน รวมถึงการรับฟังคำแนะนำหรือคำติชมจากคนที่มาดูงาน แล้วนำกลับไปปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป

ดร.สุณิสา กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดกิจกรรมลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการเรียนการสอนของคณะ ที่มุ่งหวังให้นักศึกษาเป็น “คนทำงานจริงได้” ไม่ใช่แค่คนที่เรียนเก่ง ทำข้อสอบได้คะแนนดี แต่ไม่มีประสบการณ์ เพราะในโลกการทำงาน ต้องใช้มากกว่าความรู้ในตำรา ต้องมีทั้งทักษะการคิด การสื่อสาร การทำงานร่วมกับคนอื่น และการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเสมอ”

อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความสนใจได้มากจากภายในงาน คือการนำเสนอผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ตัวอย่างเช่น Gas Track ระบบบริหารจัดการถังแก๊สสำหรับร้านค้า ระบบจัดการสินค้าคงคลัง ช่วยให้สามารถติดตามสถานะถังแก๊สได้แบบเรียลไทม์ และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจัดการคำสั่งซื้อ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถลดข้อผิดพลาด เพิ่มผลผลิต, Memo: The Online School Report ระบบบริหารจัดการโรงเรียนที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับการศึกษา โดยมอบความสะดวกสบาย ให้แก่นักเรียน ควบคู่ไปกับการดูแลเอาใจใส่และควบคุมดูแลอย่างทั่วถึงจากผู้ปกครอง, MedVista ระบบคลินิกออนไลน์ที่ให้บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมฟังก์ชันติดตามอาการและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น, MODDENG ระบบแจ้งเตือนกิจกรรมประจำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่สามารถส่งการแจ้งเตือนตรงถึงผู้เกี่ยวข้องเฉพาะงาน กิจกรรม หรือตารางเวลาของตนเอง ลดความจำเป็นในการติดตามงานแบบเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและให้ความสำคัญกับงานที่สำคัญยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างศิษย์เก่าที่กลับมาแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน ทั้งในฐานะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ UX/UI Designer และ Startup Creator รวมถึง Session Talk ในหัวข้อ “AI First Safety” ที่ชวนผู้ฟังตั้งคำถามเชิงจริยธรรมกับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง ดร.สุณิสา มองว่า “สิ่งเหล่านี้คือบทเรียนที่หาไม่ได้ในห้องเรียน แต่เป็นเรื่องจำเป็นมากในโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง”

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา ยังย้ำว่า คณะ SIT ไม่ได้เน้นเพียงแค่การสร้าง “ทักษะ” แต่ต้องการสร้าง “ความเข้าใจและเจตคติที่ถูกต้อง” ต่อเทคโนโลยี และบทบาทของเทคโนโลยีต่อสังคม “เราฝึกให้นักศึกษาคิดเป็น ทำเป็น และเข้าใจว่าเทคโนโลยีไม่ใช่แค่เรื่องของเครื่องมือ แต่คือเรื่องของผู้คน”

ภายในงานยังมีกิจกรรมเวิร์กชอปที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองใช้งานเทคโนโลยีจริงแบบเข้มข้น ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนมัธยมปลายเป็นจำนวนมาก เพราะได้สัมผัสชีวิตของนักศึกษาจริง ๆ ทั้งการลงมือทำงานกับระบบจริง และการเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาและอาจารย์ในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ

“เราอยากให้น้องๆ ที่มาเยี่ยมชม ได้เห็นภาพจริงของการเรียนไอที ไม่ใช่แค่ภาพจากโฆษณา หรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเรียนไอทีต้องเก่งคณิตอย่างเดียว หรือทำงานได้แค่ในบริษัทไอทีใหญ่ ๆ เพราะจริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีคือเครื่องมือที่ทุกคนสามารถใช้เพื่อสร้างทางเลือกในชีวิตได้ ไม่ว่าคุณจะสนใจธุรกิจ ศิลปะ การศึกษา หรือสังคม” ดร.สุณิสากล่าวสรุป

ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. ได้ยืนหยัดเป็น “คณะเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งแรกของประเทศไทย” ที่บุกเบิกและพัฒนาหลักสูตรให้ทันต่อยุคสมัย โดยมีวิสัยทัศน์ "เป็นคณะเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของประเทศ ที่ปรับเปลี่ยนผู้เรียนให้มีสมรรถนะพร้อมสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลสากลและเป็นผู้บุกเบิกบริการดิจิทัลเชิงวิชาการและวิจัย"  ในท้ายที่สุด  “ONE DAY with me: IT BANGMOD” จึงไม่ใช่แค่กิจกรรมเปิดบ้านทั่วไป แต่เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงปรัชญาการศึกษาของคณะฯ ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง (Experiential Learning) ในการปั้นคนรุ่นใหม่ให้เป็น “นักคิด นักลงมือ และนักเปลี่ยนแปลง” ที่เข้าใจเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง และรู้วิธีใช้มันเพื่อตอบโจทย์ชีวิต สังคม และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง.