In News
รัฐบาลเดินหน้าเพิ่มมูลค่า'ต้นไม้'เป็นทุน! มอบ‘โฉนดต้นยาง-โฉนดต้นไม้’หมื่นฉบับ

กรุงเทพฯ-ด่วน..!! โฉนดต้นไม้มีราคา…รัฐบาลเดินหน้าแปลงสินทรัพย์ (ต้นไม้) เป็นทุน! มอบ ‘โฉนดยางพารา – โฉนดต้นไม้’ ให้เกษตรกรหมื่นกว่าฉบับสามารถนำมาค้ำประกันกู้เงิน เพิ่มโอกาส เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ คาดก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 3.5 แสนล้านบาทต่อปี
วันนี้ (16 พฤษภาคม 2568) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการ Kick Off มอบโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารา เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันทางสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ ซึ่งกำหนดมอบโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพาราให้เกษตรกร จำนวนกว่า 11,620 ฉบับ รวมทั้งได้มีการลงนามแสดงเจตจำนงระหว่าง ธ.ก.ส. ส.ป.ก. และ กยท. เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เป็นแหล่งทุนใหม่สำหรับเกษตรกร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 350,000 ล้านบาทต่อปี
นายอนุกูล กล่าวว่า ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกัน ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ 1.กิจการ เช่น ร้านอาหารเคลื่อนที่ (ฟู้ดทรัค) 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิในเงินฝาก 3.สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร 4.อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น คอนโดมิเนียม 5.ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ 6.ทรัพย์สินอื่น ได้แก่ ไม้ยืนต้น
โดย ธ.ก.ส. ถือเป็นธนาคารแห่งแรกที่รับ ‘ไม้ยืนต้น’ เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้เกษตรกรนำเงินมาเป็นทุนเดินหน้าประกอบอาชีพได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ได้รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันแล้ว 1,520 ต้น วงเงินหลักประกันมากกว่า 10 ล้านบาท และที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จดทะเบียนรับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันแล้ว 167,302 ต้น วงเงินหลักประกันกว่า 185 ล้านบาท
“โครงการโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารา ไม่ได้มีข้อดีแค่ให้เกษตรกรใช้ค้ำประกันเงินกู้เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกต้นไม้และต้นยางพาราในระบบการเกษตรมากยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบเกษตรเชิงเศรษฐกิจและวนเกษตร ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ” นายอนุกูล ระบุ