In News

2นายกฯควงเปิดสัมมนาธุรกิจไทย-เวียตฯ ยกระดับความร่วมมือภาคเอกชน2ประเทศ



ฮานอย-สุดคึกคัก เวทีสัมนานักธุรกิจ ไทย - เวียดนาม กลางกรุงฮานอย นายกฯ เปิดงานสัมมนาธุรกิจไทย–เวียดนาม ยกระดับความร่วมมือภาคเอกชนภายใต้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านมั่นใจ การค้าระหว่างกันทะลุ 8.7 แสนล้านบาทในเร็ววันนี้

วันนี้ (16 พฤษภาคม 2568) เวลา 14.00 น. ณ ห้องทัง ลอง บอลรูม โรงแรม Melia Hanoi กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ร่วมเป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางธุรกิจไทย–เวียดนาม (Thailand–Viet Nam Business Forum) ภายใต้หัวข้อ “1+1 = Zero Boundary on Three Connects” โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรธุรกิจชั้นนำจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม สมาคมมิตรภาพไทย–เวียดนาม สภาธุรกิจไทย–เวียดนาม รวมทั้งบริษัทเอกชนชั้นนำของไทยและเวียดนามในหลากหลายสาขา

สำหรับผู้เข้าร่วมงานฝ่ายเวียดนาม อาทิ รองนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามประธานกรรมการบริษัท VietJet Air  ประธานกรรมการบริษัท Thai Vietjet  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท FPT Corporation  ผู้อำนวยการโรงเรียนโพลีเทคนิค FPT รองผู้ว่าการธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย และรองประธานคณะกรรมการประชาชนกรุงฮานอย เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลเวียดนาม โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่ให้เกียรติร่วมเปิดงาน พร้อมกล่าวแสดงความยินดีที่ได้เห็นการรวมตัวของผู้นำภาครัฐและภาคธุรกิจจากทั้งสองประเทศอย่างกว้างขวาง โดยเน้นย้ำว่า ความร่วมมือไทย–เวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่หลังการยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งสะท้อนความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และประชาชนต่อประชาชน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการเติบโตและเข้มแข็งไปด้วยกันในภูมิภาคที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง

สำหรับหัวใจสำคัญของหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านคือการเร่งส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่เศรษฐกิจ (value chain) ไทย–เวียดนามในทุกระดับ และงานสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายจะได้พบปะ พูดคุย และขยายเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันอย่างแท้จริง 

โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศเห็นพ้องในการผลักดัน “Three Connects” หรือยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง 3 ด้าน ได้แก่ (1) การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ปิโตรเคมี อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ (2) การเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยอาศัยเครือข่ายเมืองคู่มิตรกว่า 20 คู่ และ (3) การเชื่อมโยงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ด้านการค้าการลงทุน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในระดับโลก และเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของเวียดนามในโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ตั้งเป้าเร่งผลักดันให้ได้ ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.75 แสนล้านบาทโดยเร็ว

ขณะที่ การลงทุนในประเทศเวียดนาม ไทยเป็นมีนักลงทุนเป็นอันดับ 9 ด้วย มูลค่ารวมกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือกว่า 5 แสนล้านบาท อีกทั้งภาคเอกชนเวียดนามเริ่มมีการขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยกว่า 50% ของการค้าระหว่างไทย–เวียดนาม เป็นการนำเข้าและส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงแผนการพัฒนาเส้นทางบินตรง ระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับเวียดนามในอนาคต ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศเที่ยวบินแรกของสนามบินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะช่วยส่งเสริมทั้งการเดินทางของประชาชนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีแผนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เช่น เส้นทางเดินเรือสำราญระหว่างสิงคโปร์–ไทย–เวียดนาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนอกภูมิภาค และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม

การพัฒนาอย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันกว่า 2 ใน 3 ของการลงทุนจากไทยในเวียดนามเป็นโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน และในวันนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่าง EXIM Bank ของไทยกับธนาคาร BIDV ของเวียดนาม เพื่อร่วมกันสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะเร่งพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามแดนให้สะดวกรวดเร็ว มีต้นทุนต่ำ เพื่อเอื้อต่อการขยายตัวของการค้าการลงทุน

ช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทยและเวียดนามไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในระดับรัฐบาลเท่านั้น แต่ภาคเอกชนคือกำลังสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือในทุกมิติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง 

โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ และแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลลัพธ์จากการจัดงาน Business Forum ในวันนี้ จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามให้แน่นแฟ้นและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างภาคเอกชนไทยและเวียดนาม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

 1. บันทึกความเข้าใจระหว่างสายการบิน Vietjet กับ Thai Vietjet

 2. บันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับมหาวิทยาลัย FPT

 3. บันทึกความเข้าใจระหว่าง FPT Group กับบริษัท Sunline Technology จำกัด

จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะนายเลือง เกื่อง (H.E. Mr. Luong Cuong)  ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ณ ทำเนียบประธานาธิบดี จากนั้นจะเข้าเยี่ยมคารวะ นายโต เลิม (H.E. Mr. To Lam) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม  ณ ที่ทำการพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยในเวลาประมาณ 17 นาฬิกา