EDU Research & Innovation
ทีเคพาร์คร่วม70ภาคีเครือข่ายพลิกกทม. สู่เมืองแห่งการให้'Learning Fest'

กรุงเทพฯ 16 พฤษภาคม 2568 – สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพันธมิตรกว่า 70 หน่วยงาน จัดเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ ครั้งที่ 3 "Learning Fest Bangkok 2025" ภายใต้แนวคิด "Givetopia: อุดมการ(ณ์)ให้" เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เมืองให้กลายเป็นระบบการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมแห่งการให้และการแบ่งปันอย่างเท่าเทียม เทศกาลในปีนี้มุ่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริงทั่วกรุงเทพฯ รวมกว่า 40 แห่ง โดยมี TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นศูนย์กลางหลักของกิจกรรมซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16–18 พฤษภาคม 2568 พร้อมกิจกรรมมากกว่า 120 รายการ ที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นพลังของการเรียนรู้ผ่านการให้ในรูปแบบต่าง ๆ
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD กล่าวว่า Learning Fest ถือเป็นแรงผลักสำคัญที่จุดประกายวัฒนธรรมใหม่ของการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทย นับตั้งแต่เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2023 เทศกาลนี้ได้ขยายแนวคิดเรื่อง การเรียนรู้เพื่อทุกคนไปสู่จังหวัดต่าง ๆ เช่น นครศรีธรรมราชและนครราชสีมา และในปีหน้าเรายังจะเดินทางไปลำปาง นี่คือสัญญาณของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ที่ชุมชนและเมืองเริ่มลุกขึ้นมาร่วมออกแบบการเรียนรู้ในแบบที่สอดคล้องกับชีวิตของตนเอง
โดยในปีนี้ TK Park จึงได้นำเสนอแนวคิด Givetopia ที่ผสานระหว่างคำว่า Give (การให้) และ Utopia (ดินแดนในอุดมคติ) เพื่อจินตนาการถึงเมืองที่ทุกคนต่างมีบางสิ่งที่สามารถแบ่งปันได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลา ทักษะ ความรู้ หรือแม้แต่กำลังใจ โดย Learning Fest 2025 มุ่งหวังให้พื้นที่การเรียนรู้เหล่านี้เป็นต้นแบบของเมืองที่พัฒนาไปพร้อมกับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และสังคมโดยรวม“เทศกาลนี้ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมรายปี แต่คือพื้นที่ที่ทุกคนได้มามีส่วนร่วม แบ่งปัน ทั้งประสบการณ์ ความรู้ และแรงบันดาลใจ ที่จะช่วยกันสร้างอนาคตของสังคมไทยให้มีรากฐานบนความเข้าใจและความเท่าเทียม” ดร.ทวารัฐ กล่าว
นายวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park กล่าวว่า เทศกาลในปีนี้ชวนสังคมมองเห็นว่า "การให้" ไม่ใช่แค่คุณค่าทางศีลธรรม แต่คือพลังในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงได้จริง เพราะการเรียนรู้ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการให้ และสามารถขยายต่อไปในระดับบุคคล ชุมชน ไปจนถึงระดับเมือง
ภายในเทศกาล ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสกิจกรรมหลากหลายที่สะท้อนมิติของการให้ ผ่าน 6 กลุ่มกิจกรรมหลัก ได้แก่:Tour – กิจกรรมภาคสนามที่เปิดมุมมองใหม่ของกรุงเทพฯ ผ่านการสำรวจแหล่งเรียนรู้ในย่านที่เต็มไปด้วยเรื่องราว เช่น ‘เป็นสายตานักเขียน’ Walk-shop โดย Fathom Bookspace ที่พาเดินสำรวจสวนพลูผ่านมุมมองของนักเขียน และ เที่ยวเพลินเดินบ้านครัว โดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรที่พาเรียนรู้วิถีชุมชนและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม พร้อมชิมอาหารท้องถิ่นต้นตำรับ
Workshop – หลากเวิร์กช็อปที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ลงมือทำจริง พร้อมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และเสริมทักษะชีวิต ผ่านกิจกรรมที่สนุก เข้าถึงได้ และหลากหลาย ตั้งแต่งาน DIY ศิลปะ ถ่ายภาพ ไปจนถึงกิจกรรมพัฒนาศักยภาพในแบบเฉพาะตัว เช่น Sunshine Class Game โดย BlackBox, สำรวจต้นไม้รอบตัว สำรวจใจเราเอง โดยมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่, ห้องเรียนแห่งความเป็นไปได้ โดย Saturday School และ Positive Parenting โดย Soulful Parent
Showcase – นิทรรศการและพื้นที่จัดแสดงที่เล่าเรื่อง “การให้” ผ่านศิลปะและแนวคิดสร้างสรรค์ เช่น The Happily Unusual Spirit House (H.U.S.H) โดย CREAM Bangkok x NidNok ที่เปิดพื้นที่ให้จินตนาการกลายเป็นจริง และกิจกรรม Give your heart a chance to love โดยสมาคมสื่อสารอย่างสันติที่เปิดโอกาสให้เข้าใจตนเองและเชื่อมโยงกับผู้อื่นด้วยการสื่อสารอย่างลึกซึ้ง
Arts – งานศิลปะที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และความเข้าใจร่วมกัน เช่น The Missing Flower in Bangdung Conference ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน และ Fleurissimo การแสดงศิลปะเสียง ณ ปากคลองตลาด ที่หลอมรวมเสียงดนตรีกับกลิ่นอายของดอกไม้เพื่อปลุกความทรงจำอย่างอ่อนโยน โดยสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
Special – กิจกรรมพิเศษที่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ ทั้งในด้านอารมณ์และการเรียนรู้ เช่น TALK & TOUCH กับทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย ที่ใช้พลังเยียวยาจาก “อุ้งเท้าเล็กๆ” เชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว และกิจกรรม Play IBGL โดยสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ ที่ใช้การเล่นเป็นเครื่องมือเรียนรู้เชิงลึก
“เมืองที่น่าอยู่ในศตวรรษนี้ไม่ได้วัดจากขนาดเศรษฐกิจหรือจำนวนโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นเมืองที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เรียนรู้และเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตการเรียนรู้จึงไม่ใช่แค่เครื่องมือพัฒนาทักษะ หากแต่เป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม เทศกาลการเรียนรู้จึงไม่ได้เป็นเพียงเวทีของกิจกรรม แต่ คือการขับเคลื่อนวาระทางวัฒนธรรมในระยะยาว ที่เปลี่ยนให้ “การเรียนรู้” กลายเป็นสิทธิร่วมของทุกคน และเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเท่าเทียมอย่างแท้จริง วันนี้ Givetopia อาจยังไม่ปรากฏอยู่บนแผนที่ แต่ถ้าทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน พร้อมที่จะให้และร่วมมือกัน ผมเชื่อว่าเมืองแห่งการเรียนรู้นี้จะเกิดขึ้นได้จริง” นายวัฒนชัย กล่าว