ECO & ESG
20พฤษภาคม'วันผึ้งโลก'ผู้ช่วยเหลือเงียบ ของโลก

ทุกวันที่20 พฤษภาคมของทุกปีทั่วโลกจะร่วมกันเฉลิมฉลอง“วันผึ้งโลก” (World Bee Day)เพื่อยกย่องบทบาทสำคัญของผึ้งและแมลงผสมเกสรชนิดอื่น ๆ ที่มีต่อระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดวันสำคัญนี้ขึ้นครั้งแรกในปี 2018 เพื่อเป็นการระลึกถึงวันเกิดของอันตอน ยานชาผู้บุกเบิกการเลี้ยงผึ้งในสโลวีเนีย และเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของการอนุรักษ์ผึ้ง และวันผึ้งโลกเป็นหนึ่งในความพยายามของ UN ในการสร้างโลกที่สมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ผึ้งเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน และประกาศให้วันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันผึ้งโลก” (World Bee Day) อย่างเป็นทางการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI องค์กรชั้นนำที่ขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมจึงขอเป็นกระบอกเสียงในการบอกให้ทุกคนรู้ว่า ผึ้ง มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและมนุษยชาติ
ผึ้ง: ผู้ช่วยเหลือเงียบของโลกสำคัญต่อระบบนิเวศและมนุษยชาติ
ผึ้ง อาจเป็นเพียงแมลงตัวเล็ก ๆ ที่บินว่อนอยู่ในสวนหรือทุ่งดอกไม้ แต่บทบาทของพวกมันในธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ผึ้งเป็นหนึ่งในแมลงผสมเกสรที่สำคัญที่สุดของโลก และมีอิทธิพลโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิตอาหาร และสุขภาพของระบบนิเวศทั่วโลก
ผึ้งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผสมเกสรให้แก่พืชผลการเกษตรและพืชป่า มากกว่า 75% ของพืชอาหารที่มนุษย์บริโภคต้องพึ่งพาการผสมเกสรโดยแมลง ซึ่งส่วนใหญ่คือผึ้ง หากไม่มีผึ้ง โลกจะสูญเสียพืชอาหารจำนวนมาก รวมถึงผลไม้ ผัก เมล็ดพืช และถั่วต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผึ้งจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในระบบนิเวศและการผลิตอาหาร แต่ในปัจจุบันพวกมันกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับที่น่าตกใจ อัตราการสูญพันธุ์ในยุคปัจจุบันนั้น สูงกว่าค่าปกติถึง 100 ถึง 1,000 เท่า โดยมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโรคและศัตรูธรรมชาติ
สถานการณ์ผึ้งในประเทศไทย
แม้ไม่มีข้อมูลระบุแน่ชัดว่าจำนวนผึ้งลดลง และมาน้อยขนาดไหน แต่ประเทศก็รับรู้ได้ว่าผึ้งพื้นเมืองใกล้สูญพันธุ์ ผึ้งพื้นเมือง เช่น ผึ้งมิ้ม (Apis florea) และชันโรง กำลังเผชิญกับการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การใช้สารเคมีทางการเกษตร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะมีความพยายามในการเลี้ยง
ผึ้ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองยังขาดองค์ความรู้ และประเทศไทยจะมีผึ้งพื้นเมืองหลายชนิด แต่การเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากขาดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยง การคัดเลือกพันธุ์ และการจัดการที่เหมาะสม การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้ง รวมถึงงมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เช่น น้ำผึ้ง ไขผึ้ง และผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของผึ้งและแมลงผสมเกสร ภัยคุกคามที่พวกมันเผชิญ และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผึ้งในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการคงอยู่ของระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผึ้งและแมลงผสมเกสรต่อระบบนิเวศ จึงได้ส่งเสริมการอนุรักษ์แนวทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติความหลายทางชีวภาพ ด้วยรูปแบบแนวปฏิบัติ อาทิ เกษตรนิเวศ (agroecology)การเกษตรป่าไม้ (agroforestry) รวมทั้งส่งเสริมลดการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวันและการเกษตรเพื่อช่วยให้ผึ้งและแมลงผสมเกสรสามารถอยู่รอดได้ ลดการขาดแคลนอาหาร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ร่วมสร้างความตระหนัก เพื่อร่วมปกป้องผึ้ง
วันผึ้งโลกจึงเป็นโอกาสอันดีในการกระตุ้นให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม หันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ผึ้งและระบบนิเวศ โดยสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ เช่น
- ปลูกดอกไม้พื้นถิ่นหรือพืชที่เป็นมิตรกับผึ้งในสวนบ้าน
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร
- สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์และน้ำผึ้งจากแหล่งผลิตที่อนุรักษ์ธรรมชาติ
- ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของผึ้งและบทบาทของผึ้งในระบบนิเวศ
ร่วมมือกันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
การดูแลและปกป้องผึ้ง ไม่ใช่เพียงแค่การอนุรักษ์แมลงชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่คือการปกป้องแหล่งอาหาร สุขภาพของโลก และคุณภาพชีวิตของเราเอง วันผึ้งโลก จึงไม่ใช่เพียงวันเฉลิมฉลอง แต่เราอยากส่งเสียงเรียกร้องให้เราทุกคนร่วมมือกันสร้างโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ ซึ่งมีบทบาทยิ่งใหญ่ต่อความสมดุลของธรรมชาติ
เรียบเรียงโดย: วิมลศิริ สิงหะ ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย