In News

เปิด4มาตรการย่อยอุ้มผู้ประกอบการไทย สู้ในตลาดโลก/หลังบอร์ดบีโอไอเห็นชอบ



กรุงเทพฯ-BOI รับลูกตามข้อสั่งการนายกฯ เพิ่มพลังการลงทุนให้ธุรกิจ ปรับแผนส่งเสริมฯรูปแบบใหม่ ดัน 4 มาตรการสุดยอดจาก BOI เสริมแกร่ง SMEs ไทยสู่ตลาดโลกรับมือเศรษฐกิจผันผวน พร้อมรุกเวทีการค้าโลก

วันนี้ (21 พฤษภาคม 2568) เวลา 08.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญสูงสุดกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและการแข่งขันทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2568 ซึ่งมอบหมายให้ทุกหน่วยงานทบทวนเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนอย่างรอบด้าน เพื่อให้ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะ SMEs มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

โดยล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้เห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับโลกยุคใหม่” ซึ่งมีรายละเอียดใน 4 มาตรการย่อย ดังนี้

1. เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นการปรับปรุงประสิทธิภาพของ SMEs ไทย  โดยสนับสนุนให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ เช่น ระบบอัตโนมัติ การประหยัดพลังงาน และการยกระดับมาตรฐานสากล เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ในวงเงินร้อยละ 100

2. งดเว้นการส่งเสริมกิจการที่อาจมีปริมาณผลิตเกินความต้องการ (Oversupply) หรือกิจการที่มีความเสี่ยงต่อมาตรการการค้าของสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ เช่น กิจการการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด อุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์ตกแต่งยานพาหนะ กิจการตัดโลหะ กิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกรณีตั้งนอกนิคมอุตสาหกรรมและไม่มีกระบวนการรีไซเคิล นอกจากนี้ ยังงดส่งเสริมกิจการเหล็กขั้นปลาย เพิ่มเติมจากเดิม ได้แก่ กิจการผลิตเหล็กทรงยาวทุกชนิด เหล็กทรงแบน (เฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อนและ เหล็กแผ่นหนา) และท่อเหล็กชนิดต่าง ๆ

3. เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณากระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ โดยต้องมีกระบวนการผลิตที่มีสาระสำคัญ เปลี่ยนแปลงวัตถุดิบหลักให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และอุตสาหกรรมเบา รวมถึงมีการแปรสภาพวัตถุดิบหลักเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอ เช่น มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรอย่างน้อยในระดับ 4 หลัก เพื่อให้การผลิตเพื่อส่งออกของไทยเป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชัดเจนมากยิ่งขึ้น

4. ปรับเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ เพื่อสมดุลแรงงานไทย-ต่างชาติ โดยกิจการที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องมีการจ้างบุคลากรไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงาน พร้อมกำหนดรายได้ขั้นต่ำของชาวต่างชาติที่ขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เช่น ผู้บริหารต้องมีรายได้อย่างน้อย 150,000 บาทต่อเดือน และผู้เชี่ยวชาญ 50,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแย่งงานคนไทย และส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ภายในประเทศ

“มาตรการเหล่านี้สะท้อนความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เอื้อต่อการเติบโตของภาคเอกชน และการรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันการปฏิรูปกลไกส่งเสริมการลงทุน เร่งการปรับตัวของ SMEs การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการสร้างโอกาสการจ้างงานที่เป็นธรรมให้กับแรงงานไทย อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเสริมฐานรากเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งในระยะยาว” นายจิรายุ กล่าว