EDU Research & Innovation
วว.มอบเครื่องคัดแยกขวดและกระป๋อง หนุนการจัดการของเสียเมืองสระบุรี

กรุงเทพฯ-ดร.พัชทรา มณีสินธุ์รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.เรวดี อนุวัฒนา รักษาการ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ (ศนว.)และทีมวิจัย ศนว. ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (ศนย.)ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดธนาคารขยะเทศบาลเมืองสระบุรี โดยมี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะรีไซเคิล และเป็นโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ซึ่งเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างโรงเรียน วัด และชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ณ โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดทองพุ่มพวง) จังหวัดสระบุรี
โอกาสนี้ วว. มอบ “เครื่องคัดแยกขวดพลาสติกและกระป๋อง”ให้กับจังหวัดสระบุรีเพื่อร่วมสนับสนุนและผลักดันนโยบายในการขับเคลื่อนด้านการจัดการของเสียเมืองสระบุรีคาร์บอนต่ำซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขและลดปัญหาขยะชุมชน โดยมุ่งเน้นให้เป็นโครงการต้นแบบเพื่อนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางและเกิดการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน
สำหรับ “เครื่องคัดแยกขวดพลาสติกและกระป๋อง” เป็นผลงานบูรณาการวิจัยและพัฒนาของ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม และศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ มีประสิทธิภาพคัดแยกขยะรีไซเคิลแบบออนไลน์ได้ 4-5 ประเภท ประยุกต์ใช้กับระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามความต้องการลูกค้า คัดแยกบรรจุภัณฑ์โดยไม่ต้องใช้บาร์โค้ด รองรับขวดขนาด 500-600 มิลลิลิตรได้ประมาณ 50-60 ขวด/ประเภท สามารถประเมินข้อมูลการลดการทิ้งขยะ/การนำกลับปริมาณวัสดุรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์และช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
นอกจากการมอบเครื่องคัดแยกขวดพลาสติกและกระป๋องแล้ว วว. ยังได้ร่วมกิจกรรมเปิดโครงการ “ปฏิบัติการหยุดทิ้ง กล่องเครื่องดื่มใช้แล้วขายได้กับกิจกรรมกล่องนมรักษ์โลก (ชุมชน) ปีที่ 3”ที่มุ่งลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อกู้กลับคืนทรัพยากรรีไซเคิลชนิดกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular economy (CE)ซึ่ง วว. ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ “ตาลเดี่ยวโมเดล” จังหวัดสระบุรี ที่มุ่งจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชนด้วยการใช้องค์ความรู้ วทน. ที่เหมาะสมตามหลักการCE อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย และได้นำผลการดำเนินงานดังกล่าวเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย