Health & Beauty

ไทท้าจับมือม.มหิดล-กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวAG Health Volunteer




กรุงเทพฯ-ไทท้า จับมือ ม.มหิดล และกรมวิชาการเกษตร เปิดตัว “AG Health Volunteer”ดึงพลัง อกม. – อสม. ถ่ายทอดความรู้สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยจากภาคเกษตร สู่ชุมชนระดับฐานรากสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย

กรุงเทพฯ, 21 พฤษภาคม 2568 – สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไทท้า)  ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิชาการเกษตร เปิดตัวโครงการ “AG Health Volunteer” อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายในการเสริมศักยภาพให้กับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยจากภาคเกษตรสู่ชุมชนระดับฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย และส่งเสริมความยั่งยืนของภาคการเกษตรในระยะยาว

พิธีเปิดโครงการและการอบรมครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18–19 พฤษภาคม ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล กล่าวแสดงความยินดี และเน้นย้ำว่า “โครงการนี้ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังให้ อกม. และ อสม. เป็น ‘ตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลง’ (Change Agents) ในการสร้างชุมชนที่แข็งแรง เกษตรกรได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม”

นายภรต ทับไกร ผู้อำนวยการบริหาร และ นางนงนุช ยกย่องสกุล ที่ปรึกษาสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไทท้า) กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า “โครงการ AG Health Volunteer นี้ดำเนินงานภายใต้กรอบของ โครงการจัดการสารอารักขาพืชอย่างยั่งยืน (Sustainable Pesticide Management Framework - SPMF) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในภาคเกษตรกรรมไทย” ไทท้าได้ร่วมมือกับ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ กรมวิชาการเกษตร (โดย กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และ กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถ พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ด้าน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และ การจัดการความเสี่ยงในการทำงานภาคเกษตร อย่างรอบด้าน

ในการดำเนินงาน ไทท้าได้ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ คัดเลือกผู้นำ อกม. และ อสม. ที่มีความตั้งใจจริงในการพัฒนาชุมชนของตนให้ดีขึ้น โดยเริ่มต้นนำร่องกับ เกษตรกรผู้นำ 30 คน ใน 10 จังหวัด 14 อำเภอ ได้แก่: อำเภอหนองม่วงไข่ (แพร่) โพทะเล และสามง่าม (พิจิตร) หันคา (ชัยนาท) พรหมบุรี (สิงห์บุรี) บ้านหมี่ (ลพบุรี) บางไทร และ อุทัย (พระนครศรีอยุธยา) เมืองสุพรรณบุรี และเดิมบางนางบวช (สุพรรณบุรี)  โพธาราม (ราชบุรี) บ้านลาด และท่ายาง (เพชรบุรี) เขาวง (กาฬสินธุ์) ตั้งเป้าขยายผล ครอบคลุมกว่า 1,500 ครัวเรือนทั่วประเทศในระยะเริ่มต้น โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน นำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมไทยที่ มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

ผศ.ดร.ไชยนันต์ แท่งทอง รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาระบบนิเวศการศึกษา ภาควิชาอาชีว อนามัยและความปลอดภัย  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการว่า มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของพิษวิทยา และความเสี่ยงจากปัจจัยอันตรายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เช่น ปัจจัยทางกายภาพ (ความร้อน เสียง ฯลฯ) ปัจจัยทางชีวภาพ การยศาสตร์ อุบัติเหตุจากการทำงาน รวมถึงอันตรายจากสารเคมีในภาคเกษตร โดยเน้นการประเมินความเสี่ยงและการสื่อสารความเป็นอันตรายอย่างเหมาะสม โครงการได้นำเทคนิค การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถประเมินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยจะเริ่มดำเนินการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปีนี้ และมีแผนขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายภายในระยะเวลา 3 ปี

นายเทวรัตน์ บูรณ์สวัสดิ์พงษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวเสริมว่า “กรมวิชาการเกษตรมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนการเรียนรู้ของเกษตรกรผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารอารักขาพืช เพื่อเรียนรู้กระบวนการควบคุมคุณภาพของสารเคมีที่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง และการกำหนดค่าการยอมรับสารตกค้าง (MRL – Maximum Residue Limit) ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและมาตรฐานการส่งออก”

นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เทคโนโลยีการใช้โดรนเพื่อการเกษตร, การอ่านฉลากวัตถุอันตรายทางการเกษตร และการใช้อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักบินโดรนจะต้องผ่านการอบรมกับกรมวิชาการเกษตรเป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้สามารถใช้งานโดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และปลอดภัยต่อทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับ กระบวนการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร, การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าที่ได้รับอนุญาต การใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้อง การสลับกลุ่มสารฯเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการดื้อยา รวมถึงการลดปริมาณการใช้สารฯลงโดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพ องค์ความรู้ทั้งหมดนี้สามารถถ่ายทอดต่อไปยังชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการผลิตที่ปลอดภัยและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศไทยในระยะยาว

นายบรรพต มามาก ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี  ตัวแทนผู้นำเกษตรกรกล่าวว่า “โครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรและชุมชนได้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การพัฒนา ยอมรับ และปฏิบัติจริงในพื้นที่ของตนเอง ที่สำคัญคือสามารถขยายผลต่อได้อย่างเหมาะสม สร้างจิตสำนึกและอุดมการณ์ในการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากภายใน ซึ่งเป็นรากฐานของความยั่งยืนอย่างแท้จริง”

สำหรับโครงการ AG Health Volunteer มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ อาสาสมัครเกษตรกร (อกม.) และ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ร่วมกันเป็นผู้นำในการวางแผนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมี 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ไทท้า, คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ กรมวิชาการเกษตร ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนทางวิชาการอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมพลังผู้นำชุมชนให้สามารถสร้างสุขภาวะที่ดีในพื้นที่ ส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และวางรากฐานสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของภาคเกษตรกรรมไทยในระยะยาว