Travel Soft Power & Sport

เบื้องหลังอุตสาหกรรมเครื่องดื่มกับร่อง รอยเทคโนโลยีอวกาศที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด



กรุงเทพฯ (22 พฤษภาคม 2568) – รู้หรือไม่ว่าเครื่องดื่มที่เราดื่มกันทุกวันนี้ มีเบื้องหลังที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสำรวจอวกาศอย่างที่หลายคนอาจไม่คาดคิด  แม้ว่าเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีอวกาศ เรามักนึกถึงจรวดหรือดาวเทียมที่ลอยห่างจากโลกไกลหลายแสนกิโลเมตร แต่ในความเป็นจริง นวัตกรรมจากองค์ความรู้ดาราศาสตร์นั้นกลับอยู่ใกล้ตัวเรา และทิ้งร่องรอยอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องดื่มที่เราเลือกดื่มในทุกวัน ซึ่งเบื้องหลังการผลิตนั้นเต็มไปด้วยร่องรอยของเทคโนโลยีอวกาศที่แฝงอยู่ในทุกขั้นตอน

โจทย์สำคัญของการสำรวจอวกาศ ไม่ได้มีเพียงแค่การสร้างจรวดหรือดาวเทียม แต่ยังรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมจำกัดของยานอวกาศที่มีแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ จึงนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมของอาหารและน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต โดยไม่เพียงต้องปลอดภัยในการบริโภคเท่านั้น แต่ยังต้องคงสภาพ คุณค่าทางโภชนาการ และมีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ความท้าทายนี้จึงเป็นต้นแบบสำคัญของนวัตกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มบนโลก เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต และสร้างสรรค์เครื่องดื่มใหม่ๆ องค์ความรู้จากดาราศาสตร์จึงสามารถไปได้ไกลกว่าอวกาศ และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันเราเสมอมา

จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจากภารกิจสำรวจอวกาศถูกนำมาประยุกต์ใช้จริงในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ รวมถึงโรงงานของกลุ่มธุรกิจ TCP เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มอย่าง กระทิงแดง เรดบูล เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ และอีกมากมาย ซึ่งได้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศมาใช้เพื่อยกระดับทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพตลอดทั้งกระบวนการผลิต ซึ่งถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า ร่องรอยของเทคโนโลยีอวกาศได้เข้ามาผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มอย่างแท้จริง

ร่องรอยของของเทคโนโลยีอวกาศที่ใช้ในโรงงานของกลุ่มธุรกิจ TCP อยู่ตั้งแต่ต้นจนส่งผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดค้นสูตรอาหารที่ใช้แนวคิดการออกแบบสูตรอาหารสำหรับนักบินอวกาศให้ครบตามความต้องการต่อวัน ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อหาปริมาณที่เหมาะสมตามรายบุคคล โดยกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค และนำแนวคิดมาปรับให้เข้ากับปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันของคนไทย (Thai RDI: Thai Recommended Daily Intakes) ต่อเนื่องไปยังการคัดเลือกวัตถุดิบ พร้อมรักษาคุณภาพและความคงตัวของสารอาหารสำคัญ

ในด้านความสะอาดและปลอดภัยของเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจ TCP ยังยกระดับการนำเทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่ใช้ในภารกิจอวกาศมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ใช้ในการเตรียมน้ำดื่มให้กับนักบินอวกาศ นอกจากนี้ เมื่ออยู่ในห้วงอวกาศ “น้ำ” ถือเป็นทรัพยากรล้ำค่าและมีจำกัด การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้กระทั่งในสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station, ISS) เอง ก็ได้มีการใช้เทคโนโลยีReverse Osmosis หรือการกรองน้ำแบบออสโมซิสย้อนกลับ เป็นส่วนหนึ่งของ Water Processing Assembly (WPA) ที่ทำการการรีไซเคิลและเปลี่ยนน้ำเสียให้กลับมาบริสุทธิ์พร้อมดื่มได้อีกครั้ง โดยกลุ่มธุรกิจ TCP ได้นำระบบเดียวกันนี้มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตเช่นเดียวกัน เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องดื่มทุกขวดมีน้ำที่สะอาด บริสุทธิ์ และปลอดภัย

สำหรับในสายการผลิต โรงงานได้นำเซ็นเซอร์อินฟราเรด (Infrared Sensor) ซึ่งเดิมทีเป็นเทคโนโลยีที่ยานอวกาศใช้เพื่อวิเคราะห์ค่าต่างๆ ในห้วงอวกาศ ตั้งแต่สภาพบรรยากาศของดาวเคราะห์ไปจนถึงองค์ประกอบทางเคมีของดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกล มาใช้ในการตรวจวัดคุณภาพวัตถุดิบและปริมาตรการบรรจุผลิตภัณฑ์อย่างแม่นยำ พร้อมตรวจสอบความถูกต้องของสีด้วยเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (Spectrophotometer)  ซึ่งพัฒนาจากเทคโนโลยี Spectrometer ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงยานอวกาศและตรวจสอบองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ  มาปรับใช้เพื่อรักษาความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในทุกล็อตการผลิต ส่วนในด้านการควบคุมคุณภาพ ได้มีการประยุกต์ใช้ “จมูกอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “อี-โนส” (E-Nose: Electronic Nose) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ในการตรวจจับการปนเปื้อนของอากาศที่อยู่ภายในสถานีอวกาศ ในระดับที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ไม่สามารถแยกแยะได้ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานของกลุ่มธุรกิจ TCP ทั้งในด้านรสชาติและคุณภาพ 

ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค ร่องรอยของเทคโนโลยีจากอวกาศยังคงปรากฏให้เห็นผ่านกระบวนการจัดเรียงและการขนส่งสินค้า โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้คือ นวัตกรรมแขนกล (Robot Arm) ที่ใช้เคลื่อนย้ายและจัดเรียงสินค้าอัตโนมัติตามคำสั่งที่ป้อนเข้าไป ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการใช้แรงงานเท่านั้น แต่ยังลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ระบบติดตามสถานะสินค้าทั้งในระหว่างการจัดเก็บในคลังและการขนส่งยังเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยให้กระบวนการทั้งหมดมีความแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย

ล่าสุด กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) เพื่อร่วมกันผลักดันองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากดาราศาสตร์มาสู่การใช้งานจริงในกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มของไทย โดย นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “เราเชื่อว่านวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้คน ต้องไม่หยุดอยู่แค่การมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เราต้องกล้าที่จะมองกว้างไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลที่สุดอย่างอวกาศ จากความท้าทายนั้น เราสามารถนำประโยชน์ที่ได้ระหว่างทางกลับมาประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของเราอีกด้วย กลุ่มธุรกิจ TCP จึงเชื่อมั่นว่า การเชื่อมโยงองค์ความรู้จากดาราศาสตร์กับภาคการผลิต จะเป็นอีกก้าวสำคัญของการยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และความยั่งยืนของกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ในอนาคต”

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่า สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเทคโนโลยีสำหรับนักบินอวกาศ ได้กลายมาเป็นนวัตกรรมที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน และมีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยมากมาย ดังนั้นโจทย์ของอวกาศที่กว้างใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของอนาคตที่อยู่ไกลตัวเท่านั้น แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่จะ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” และขับเคลื่อนโลกในปัจจุบันและอนาคตต่อไป