ECO & ESG

ก้าวสำคัญ!ไทย-สิงคโปร์ลงนามMRAปั้นมาตรฐานวัสดุก่อสร้างสีเขียวสู่อาเซียน



กรุงเทพฯ-สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) โดยงานฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้ดำเนินงานฉลากเขียวประเทศไทย จับมือ สภาสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ (SEC) ผู้ดำเนินงานโครงการ Singapore Green Labelling Scheme (SGLS) เดินหน้ายกระดับคุณภาพวัสดุก่อสร้างสีเขียวจัดพิธีลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement: MRA) มุ่งหวัง ยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพวัสดุก่อสร้างให้เป็นต้นแบบของภูมิภาคเอเชียของฉลากสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นนำร่องในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ณ โรงแรม Paradox สิงคโปร์

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “ประเทศสิงค์โปร์ ถือเป็นประเทศที่มีความแข็งแรงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีภาครัฐและเอกชนในประเทศมีแผนการสร้างและขยายโครงการต่างๆ มากมาย ดังนั้นการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่ไทยและสิงคโปร์เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ด้าน ดร.ฉัตรตรี ภูรัต ผู้อำนวยการฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “บทบาทของฉลากเขียว คือฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 14024 โดยเป็นสมาชิกของเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก (Global Ecolabelling Network - GEN) ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GENICES และผ่านการรับรอง ISO/IEC 17065 ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างได้มีการขอการรับรองฉลากเขียวเป็นจำนวน 570 รุ่น ดังนั้นการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้ร่วมกันพัฒนาเกณฑ์รับรองสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเกิดการยอมรับร่วมกันสำหรับภูมิภาคอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ท่านอุรีรัชต์ เจริญโต เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ และ Ms. Isabella Huang-Loh, Board Member of the Global Ecolabelling Network Chairman และ Mr. Lim Teck Kiat, Deputy Secretary (Resillience), Minitry of Sustainability and the Environment พร้อมด้วยทีมวิชาการจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและ Mr. Cheang Kok Chung, Executive Director, Mr. Bay Meng Yi, Director of Sustainability, SEC ร่วมงาน

สำหรับการขับเคลื่อนงานร่วมกันภายใต้ข้อตกลงครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ในระบบมาตรฐานของทั้งสองฝ่าย การยอมรับคุณสมบัติเกณฑ์และกระบวนการรับรองที่เทียบเท่ากันจะช่วยลดอุปสรรคด้านการค้า เพิ่มความคล่องตัว และลดต้นทุนของผู้ประกอบการในกระบวนการขอการรับรองซ้ำซ้อน รวมถึงความมุ่งมั่นร่วมกันต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการใช้ปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในขณะเดียวกันยังคงรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ได้

การจับมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมมือของ 2 ประเทศและเป็นต้นแบบความร่วมมือในการสร้างมาตรฐานระหว่างประเทศที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในระดับภูมิภาค ทั้งในด้านนวัตกรรม ความยั่งยืน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงร่วมกันของประเทศในกลุ่มเอเชีย