Travel Soft Power & Sport
งานบุญบั้งไฟอีสานดึงลูกหลานคืนสู่เหย้า เปิดทะเลโคลนสืบสานประเพณีโบราณ

กาฬสินธุ์-เทศบาลตำบลคำเหมือดแก้ว อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน จัดงานบุญบั้งไฟประจำปี 2568 ด้วยขบวนแห่อลังการยิ่งใหญ่ พร้อมขบวนนางรำบวงสรวงพญาแถนเทวดาแห่งฝน ดึงลูกหลาน เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมอนุรักษ์และสืบสานการละเล่นทะเลโคลน ประเพณีโบราณ หนึ่งเดียวในจังหวัดกาฬสินธุ์ บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ลุ้นระทึกและตื่นตาตื่นใจกับบั้งไฟแสนบั้งไฟล้านน้ำหนักกว่า 1.2 ตันหรือ 1,200 กิโลกรัมพุ่งทะยานทะลุท้องฟ้าอย่างสวยงาม
ที่บริเวณลานเอนกประสงค์อ่างเก็บน้ำวังลิ้นฟ้า ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ นางสาวลำพรรณ คำแหงพล นายกเทศมนตรีตำบลคำเหมือดแก้ว เป็นประธานเปิดงานบุญบั้งไฟ ประจำปี 2568 โดยมีนายพิบูรณ์ คำแหงพล อดีตนายกเทศมนตรีตำบลคำเหมือดแก้ว นายบพิตร งอมสระคู กำนันตำบลคำเหมือดแก้ว พร้อมด้วยผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ เทศบาลตำบลคำเหมือดแก้ว ผู้บริหารสถานศึกษา ประชาชน เยาวชน นักท่องเที่ยว ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นางสาวลำพรรณ คำแหงพล นายกเทศมนตรีตำบลคำเหมือดแก้ว กล่าวว่า พื้นที่ตำบลคำเหมือดแก้ว 9 หมู่บ้าน อยู่นอกเขตชลประทาน พี่น้องประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ที่ผ่านมาอาศัยน้ำฝนและน้ำบนดินจากอ่างเก็บน้ำวังลิ้นฟ้า แหล่งน้ำสาธารณะประจำตำบลคำเหมือดแก้ว เพื่อการอุปโภคบริโภคและเป็นน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำประปา หากปีใดประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ค่อยเพียงพอ ต้องใช้น้ำใต้ดินหรือสูบน้ำบาดาลขึ้นมาทดแทน ทั้งนี้ น้ำบนดินและน้ำใต้ดินซึ่งได้จากน้ำฝน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชนชาวตำบลคำเหมือดแก้วทุกหมู่บ้าน
นางสาวลำพรรณกล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานบุญบั้งไฟ ถือเป็นงานบุญประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ที่จะมีการประดิษฐ์บั้งไฟจากภูมิปัญญาแล้วนำมาจุดขึ้นฟ้า เพื่อเป็นสัญญาณและบอกกล่าวต่อพญาแถน ซึ่งเป็นเทวดาแห่งฝนตามความเชื่อ ว่าถึงฤดูฝนแล้วขอให้บันดาลฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อที่จะได้มีน้ำสำหรับเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก่อนถึงฤดูกาลทำนาและขอให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย งานบุญบั้งไฟจึงเป็นงานประจำปีของทุกหมู่บ้านในสมัยก่อน ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการประดิษฐ์บั้งไฟจากภูมิปัญญา และมีการพัฒนาบั้งไฟที่ใช้ในการจุดให้มีน้ำหนักและขนาดที่ใหญ่ขึ้น ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและปลอดภัย จากที่เคยจุดขึ้นฟ้าเพื่อเสี่ยงทายฝนฟ้าและบอกกล่าวพญาแถน ก็เป็นการจุดเพื่อให้การจัดงานมีความยิ่งใหญ่ เป็นงานประจำปี และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน มีการละเล่นสนุกสนาน เช่น การเล่นทะเลโคลน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมงานบุญบั้งไฟ
ด้านนายทองสุข ขานชา อายุ 63 ปี ชาวบ้านคำเหมือดแก้ว หมู่ 3 ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทุกพื้นที่ในภาคอีสาน ซึ่งความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ มีความผูกพันกับธรรมชาติ โดยทำการเกษตรกรรม เพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หาปูหาปลา เก็บพืชผักผลไม้เป็นอาหาร โดยอาหารการกินที่ได้เป็นผลผลิตจากน้ำฝน ที่หล่อเลี้ยงให้เจริญเติบโตและผลิดอกออกผล ดังนั้น การจัดงานบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เทวดาแห่งฝนตามความเชื่อดังกล่าว จึงถือว่าเป็นประเพณีที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกปี หากปีใดหรือท้องถิ่นใดละเลย ไม่ได้จัดงานบุญบั้งไฟ ก็อาจจะประสบภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงติดต่อกันหลายเดือน พืชผลทางการเกษตรก็อาจจะได้รับความเสียหาย
“ความสำคัญของการจัดงานบุญบั้งไฟดังกล่าว ยังเป็นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน และหมู่คณะได้เป็นอย่างดี ซึ่งบุตรหลาน รวมถึงนักท่องเที่ยว จะให้ความสำคัญกับงานบุญบั้งไฟมาก เพราะจะจัดขึ้นปีละครั้งเท่านั้น หลายคนที่ไปทำงานต่างจังหวัด จึงจำเป็นต้องเดินทางกลับมาร่วมงาน และร่วมอธิษฐานขอฝนจากพญาแถน ภาพที่เกิดขึ้นจึงเหมือนเป็นงานบุญบั้งไฟคืนสู่เหย้าสืบสานประเพณีโบราณ เห็นได้จากความพร้อมเพรียงของปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก ร่วมกันประดิษฐ์บั้งไฟ ตกแต่งขบวนบุปผาชาติหรือรถแห่บั้งไฟ ประดับประดาหรือเอ้บั้งไฟให้มีความสวยงาม บุตรหลาน เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีเวทีกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ในส่วนของรำบวงสรวง การประกวดผาแดง-นางไอ่ การแสดงทักษะ ความสามารถ และมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์งานบุญบั้งไฟ ในโลกออนไลน์และโซเชียลต่างๆ ให้สังคมได้รู้ในความเป็นหนึ่งอันเดียวกัน และได้เห็นในสิ่งที่ดีๆ ที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวอีสาน ซึ่งมีการสืบสานมาหลายชั่วอายุ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรม ที่เต็มพร้อมด้วยความรู้รักสามัคคี ที่นานาประเทศชื่นชม” นายทองสุขกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับไฮไลท์ในงานบุญบั้งไฟครั้งนี้ อยู่ที่การจุดบั้งไฟหมื่น น้ำหนักบั้งละ 12 กก. จำนวน 9 บั้ง บั้งไฟแสน น้ำหนักบั้งละ 120 กก.จำนวน 2 บั้ง และบั้งไฟล้านน้ำหนัก 1,200 กก. จำนวน 1 บั้ง ซึ่งบั้งไฟทุกบั้งพุ่งทะยานสู่ท้องฟ้าอย่างสวยงาม โดยเฉพาะบั้งไฟล้าน ที่ทุกคนที่มาร่วมงานต่างลุ้นระทึก โดยจะค่อยๆพุ่งทะยานทะลุท้องฟ้าไกลสุดลูกตาเหมือนกระสวยอวกาศ หรือขีปนาวุธที่พุ่งออกจากฐานยิง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจกึกก้อง ในความมหัศจรรย์ของท่อพีวีซีหางลำไม้ไผ่ ที่พุ่งจากฐานบั้งไฟขึ้นไปบนท้องฟ้าดังกล่าว นอกจากนี้สีสันภายในงานยังเป็นการละเล่นทะเลโคลนอย่างสนุกสนาน ซึ่งมีการประยุกต์จากสมัยก่อน ที่หากบั้งไฟของใครจุดไม่ขึ้น เจ้าของบั้งไฟก็จะถูกเพื่อนบ้านจับตัวลงโคลนตม แต่ในงานบุญบั้งไฟที่ตำบลคำเหมือดแก้ว ได้มีการเตรียมพื้นที่ เพื่อให้มีการเล่นทะเลโคลนอย่างสนุกสุดเหวี่ยง แห่งเดียวใน จ.กาฬสินธุ์ ผ่อนคลายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเล่นทะเลโคลนเพื่อบวงสรวงพญาแถน เทวดาแห่งฝนที่ดลบันดาลให้มีฝนตกและมีน้ำขัง ให้คน สัตว์ พืช ได้หล่อเลี้ยงชีวิต และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขอีกด้วย