EDU Research & Innovation
ผู้ช่วยรัฐมนตรีอว.ลงพื้นที่มหาสารคามชู 'นวัตกรรมเกษตรมูลค่าสูง'

มหาสารคาม .- ผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. ลงพื้นที่มหาสารคาม ชู "นวัตกรรมเกษตรมูลค่าสูง" ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
วันนี้ (4 มิถุนายน 2568) นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยมี นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นำผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด อว. หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด อาจารย์ บุคลากร นิสิต และประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเกษตรมูลค่าสูง”
กิจกรรมในวันนี้เริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมบูธนิทรรศการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่น่าสนใจ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 17 ผลงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 5 ผลงาน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายของกระทรวง อว. 3 ผลงาน รวมถึงหน่วยให้บริการสุขภาพประชาชน และกิจกรรม Workshop สาธิตการทอผ้าด้วยกี่เล็ก ที่สะท้อนถึงศักยภาพและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมของจังหวัดมหาสารคาม
ก่อนพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ คณะของนายศุภชัย ใจสมุทร ได้รับการต้อนรับจากนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ด้วยการแสดงวงกลองยาวและการแสดงลำเพลินจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ รวมถึงการเดินแบบแฟชั่นผ้าไทยอันวิจิตรงดงามจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
จากนั้น นายศุภชัย ใจสมุทร ได้ขึ้นเวทีเพื่อเปิดงาน ณ ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กล่าวสรุปผลการดำเนินงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามและภาคีเครือข่าย พร้อมทั้ง ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ได้นำเสนอผลการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ร่วมกับจังหวัด และการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยตามนโยบายกระทรวง อว.
รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัด เพื่อสร้างพลวัตการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์จังหวัดและนโยบายสำคัญของกระทรวง อว. โดยเฉพาะการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยสู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ดำเนินงานตามแผนงานโครงการบริการวิชาการในช่วงปี พ.ศ. 2567-2570 ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนใน 8 กรอบประเด็นหลัก ได้แก่ ผ้าไทยและผ้าย้อมสีธรรมชาติ, ความมั่นคงทางอาหารและอาหารเพื่อสุขภาพ, การจัดการดินและน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ, สมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร, คาร์บอนเครดิต พลังงาน และสิ่งแวดล้อม, การท่องเที่ยว บริการ และยกระดับสินค้าชุมชน, การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในระดับชุมชน
ในวันนี้ มีการจัดแสดงผลงานจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และผลการดำเนินงานร่วมกับจังหวัด หน่วยงานในสังกัด อว. ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน จำนวน 25 ผลงาน ภายใต้ 3 ธีมหลัก ได้แก่
1.ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมการยกระดับผ้าทออัตลักษณ์ อาทิ นวัตกรรมการเคลือบสิ่งทอโดยใช้พลาสมาความดันบรรยากาศ, นวัตกรรมการออกแบบลวดลายผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ, และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสิ่งทอ
2.ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตรและสมุนไพร อาทิ ผลิตภัณฑ์จากใบบัวบกและว่านหางจระเข้, การพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและระบบไบโอรีแอคเตอร์ (Bioreactor) สำหรับผลิตต้นพันธุ์สมุนไพรปลอดโรค, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่นแปรรูปสมุนไพร, ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอินทรีย์, และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพร เช่น โลชั่นมัลเบอร์รี่โพสต์ไบโอติค, Bio Herbal Whitening Serum
3.ด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยวและเมืองน่าอยู่ อาทิ โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และชาญฉลาด 3.(CIAP), ผลงานเส้นทางท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ Mahasarakham Happy Model 4 เส้นทาง, การสาธิตการรักษาด้วยหัตถการการแพทย์แผนไทย, รวมถึงการให้บริการสุขภาพประชาชน โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เน้นย้ำ นโยบายในการขับเคลื่อนงานด้าน อววน. โดยมีใจความสำคัญคือ การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ไปพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดมหาสารคาม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการบูรณาการองค์ความรู้และทรัพยากร เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ
นายศุภชัย ใจสมุทร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง อว. มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นมากกว่าแค่แหล่งเรียนรู้ แต่เป็น "กลไกสำคัญ" ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์นวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการวิชาการที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างทั่วถึง และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
จากนั้นในช่วงบ่าย คณะผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. ได้ลงพื้นที่ไปยัง ศูนย์เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยี่อพันธุ์พืช อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามการดำเนินงานและการรายงานผล ร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โดย ผู้ช่วยรัฐมนตรี อว.ได้ร่วมเสวนาและให้ทิศทาง อว.กับการฟื้นฟู เศรษฐกิจฐานราก ให้แก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชและโรงอนุบาลต้นอ่อน ก่อนเดินทางกลับ
พิเชษฐ ยากรี - มหาสารคาม