In Thailand
'ทรงศักดิ์'ตรวจแหล่งน้ำดิบอ.สุวรรณภูมิ
ร้อยเอ็ด-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อตรวจติดตามแหล่งผลิตน้ำดิบ ที่ใช้สำหรับผลิตน้ำประปาของอำเภอสุวรรณภูมิ โดยมีนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ,นายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ,นายเอกภาพ พลซื่อ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด , หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ ทั้งนี้ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นตรวจดูแหล่งผลิตน้ำดิบ และเดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาสุวรรณภูมิ หลังจากนั้น ได้เดินทางไปประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางในการสนับสนุนและการพัฒนางานในด้านต่างๆ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 เทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปในเรื่องของศักยภาพจังหวัด โดยจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ทั้งสิ้น 8,299.46 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,187,156 ไร่ แบ่งออกเป็น 20 อำเภอ มีประชากร 1,298,640 คน และมีพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ข้าวหอมมะลิ มุ่งขับเคลื่อนจังหวัดสู่เกษตรมูลค่าสูง โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาภาคการเกษตร และในส่วนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ชี้แจงการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาผังเมืองรวมสุวรรณภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะที่ 2
ทางด้าน นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน ซึ่งทราบว่าพี่น้องชาวอำเภอสุวรรณภูมิมีปัญหาเรื่องประปาโดยวันนี้ได้ลงพื้นที่ก็เห็นว่าพื้นที่มีศักยภาพในความพร้อมพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาการกักตุนน้ำในพื้นที่กักเก็บน้ำ หน้าน้ำมีน้ำเยอะ แต่เวลาหน้าแล้งพื้นที่น้ำมันจะน้อย และถ้าเรามีโอกาสได้สร้างแก้มลิงให้น้ำเข้าไปและเก็บน้ำในปริมาณที่เท่ากับจำนวนผู้ใช้น้ำของอำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งการใช้น้ำใน 1 ปี ประมาณ 1,200,000 ลูกบาศก์เมตร และต้องหาน้ำให้เพียงพอต่อการใช้
ซึ่งต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ และในเรื่องนี้รัฐบาลมีแนวทางปฏิบัติ คือ โครงการขุดสระ ถ้าเป็นลำน้ำก็จะขุดทรายแลกน้ำ และพื้นที่สาธารณะทั้งหลายได้ออกแบบสำรวจดูว่ามีการใช้พื้นที่เท่าไหร่ โดยร่วมมือกับกรมธนารักษ์จังหวัด ในส่วนของดินจะมีมูลค่าคำนวณตามที่ทางแบบราชการกำหนด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามประกาศเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจ เอาดินเราไป และเราก็เอาน้ำมา หรือว่าในแม่น้ำลำคลองที่ได้น้ำกลับคืนมาก็เป็นโครงการที่สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน เพียงแต่ว่า ต้องเป็นนโยบายลงไป เชิญชวนประชาชนให้ได้รู้ว่ารัฐหรือราชการมีนโยบายอย่างนี้ โดยที่ใครต้องการดิน ก็ทำและเข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล เอาดินไปเราก็ได้น้ำมา โดยเฉพาะภาคอีสานนี้มีน้ำ จะมีเงินเพื่อใช้ในการเกษตรอย่างแน่นอน