In News

นายกฯย้ำในการเปิดประชุมGFEAI2025 ไทยมุ่งมั่นพัฒนาAIตามแนวทางยูเนสโก



กรุงเทพฯ-ครั้งแรกของไทย! นายกฯ เปิดการประชุม GFEAI 2025 ย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนา AI อย่างมีความรับผิดชอบ ตามแนวทางของ UNESCOพร้อมเสริมศักยภาพ AI เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมและความก้าวหน้า สนับสนุนบทบาทไทยในฐานะผู้นำจริยธรรม AI ของภูมิภาค

วันนี้ (วันพุธที่ 25 มิถุนายน 2568) เวลา 09.10 น. ณ ห้องคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ B1 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดการประชุม The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence ในปี 2568 (GFEAI 2025) ภายใต้หัวข้อ “AI Ethical Governance in Action” เพื่อยกระดับบทบาทไทยในเวทีโลกด้านปัญญาประดิษฐ์ และส่งเสริมจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ 

โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นางโอเดรย์ อาซูเลย์ (H.E. Ms. Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และนางลิเดีย อาร์เธอร์ บริโต ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่แห่งยูเนสโก เข้าร่วม

ภายหลังเสร็จสิ้น นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของปาฐกถาพิเศษ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในเวทีสำคัญแห่งนี้ ซึ่งมีจุดยืนร่วมกันในการกำหนดอนาคตที่เทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อมนุษยชาติ และให้ความสำคัญต่อหลักจริยธรรมในการพัฒนา AI พร้อมทั้งชื่นชมองค์การยูเนสโกที่ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) ซึ่งสามารถรวมสมาชิกองค์การยูเนสโกทั้ง 194 ประเทศให้เดินหน้าร่วมกัน สู่การพัฒนาที่มีความรับผิดชอบ โดยปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การทำงาน การเรียนรู้ และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในไม่ช้า ซึ่งรัฐบาลยึดมั่นในหลักการสำคัญ 3 ประการ เพื่อให้แน่ใจว่า AI จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ครอบคลุม ยั่งยืน และถาวร ได้แก่ 

ประการแรก การเสริมศักยภาพด้านบวกของ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการช่วยเกษตรกรในการบริหารจัดการน้ำ การสนับสนุนแพทย์ในการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และการส่งเสริมการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ซึ่ง AI มีศักยภาพอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเร่งผลักดันนวัตกรรมเหล่านี้ให้เข้าถึงได้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและชุมชนเปราะบาง

ประการที่สอง การป้องกันการนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ สื่อที่ถูกดัดแปลงทางดิจิทัล (Deepfake) และภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทำลายความเชื่อมั่นของสาธารณชนและหลักประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ชัดเจน เครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และการปลูกฝังทักษะรู้เท่าทันดิจิทัลให้กับประชาชนทุกคน

ประการสุดท้าย การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา AI ความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียงานจากเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม แต่ AI ควรทำหน้าที่ในการสนับสนุน ไม่ใช่แทนที่แรงงานมนุษย์ ดังนั้น ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา จึงต้องร่วมมือกัน เพื่อยกระดับทักษะของแรงงาน พร้อมรักษาคุณค่าของแรงงานมนุษย์ให้มั่นคง

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน โดยภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ไทยกำลังเดินไปข้างหน้า ด้วยแผนงานสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 

1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีเป้าหมายสร้างผู้ใช้งาน AI ทั่วไป จำนวน 10 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญ AI จำนวน 90,000 คน และนักพัฒนา AI จำนวน 50,000 คน

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยงบประมาณกว่า 15.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เปิด (Open Source AI Platform) และการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ 

3. การผลักดันการใช้ AI ให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ด้วยงบประมาณกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพลิกโฉมภาคเกษตรกรรม สาธารณสุข และการท่องเที่ยว

4. การเป็นผู้นำอย่างมีจริยธรรม ผ่านการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ของภูมิภาค  (AI Governance Practice Center: AIGPC) เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศและความร่วมมือในระดับภูมิภาค

พร้อมกันนี้ ไทยยังได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโลกในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมสำหรับ AI ของยูเนสโก เพื่อให้มั่นใจว่า “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า AI ต้องเป็นพลังแห่งความจริง ไม่ใช่การหลอกลวง เป็นเครื่องมือเพื่อการมีส่วนร่วม ไม่ใช่การแบ่งแยก และเป็นแรงขับเคลื่อนความก้าวหน้า ไม่ใช่ความหวาดกลัว โดยไทยพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตของ AI ที่มีจริยธรรมและความเท่าเทียม พร้อมก้าวไปข้างหน้าด้วยสติปัญญา ความรับผิดชอบ และเป้าหมายร่วมกัน

สำหรับการประชุม GFEAI 2025 เป็นการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามแนวทางข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์ของยูเนสโก โดยการประชุมในครั้งนี้ ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 24 - 27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การยูเนสโก 

นายกฯจับมือยูเนสโกส่งเสริมการใช้ AIอย่างมีจริยธรรม

 

เวลา 09. 30 น. ณ ห้อง Lotus Suite 11 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนางโอเดรย์ อาซูเลย์ (H.E. Ms. Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI (GFEAI 2025) 

โดยนางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงผลการหารือ ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต้อนรับผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ในโอกาสเยือนประเทศไทย และแสดงความยินดีที่ประชุม The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI ซึ่งเป็นการประชุมสำคัญระดับโลก ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี  โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่ดี และประสบการณ์ระหว่างนานาประเทศในการส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรม โดยการมาเยือนไทยครั้งนี้ ชื่มชมนโยบายของรัฐบาลไทยในการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมผ่านดิจิทัล และ AI รวมถึงมีการส่งเสริมความตระหนักรู้ให้กับเยาวชน ผ่านการศึกษา เพื่อให้สามารถใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีจริยธรรม ซึ่งเมื่อวานผู้อำนวยการยูเนสโกได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนและสถานศึกษาของไทย และรู้สึกชื่นชมต่อพัฒนาการดังกล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนโยบายด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ การส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เร่งการขยายตัวของภาคดิจิทัล สนับสนุนการนำ AI มาใช้ และเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรสำหรับอนาคต เพื่อเปลี่ยนผ่านดิจิทัลผ่านการศึกษา (Digital Transformation in Education)  ซึ่งประเทศไทยมีความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Google และ Microsoft โดยนายกรัฐมนตรีมุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและ AI ในสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยของไทย รวมถึงรัฐบาลมีการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนไทยในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เพื่อไปศึกษาต่อด้านเทคโนโลยีและ AI ตลอดจนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา (One District One Scholarship: ODOS) ที่ส่งเสริมเยาวชนไทยเข้าร่วมค่ายฤดูร้อนในต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้และนำมาพัฒนาประเทศต่อไป  โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญในการเตรียมคนสำหรับโลกอนาคตที่เป็นโลกของเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI 

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงการส่งเสริมการศึกษาของสตรีในสาขาวิทยาการข้อมูล (Data Science) และ AI ให้มากขึ้น โดยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ระบุว่า ปัจจุบันผู้หญิงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 12 ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสผู้หญิงเข้าสู่สายอาชีพด้าน AI และ STEM มากขึ้น

โดยนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการส่งเสริมจริยธรรมของ AI ตามแนวทางของยูเนสโก ซึ่งเป็นกรอบสำคัญในการนำ AI ไปใช้อย่างถูกต้อง พร้อมแจ้งว่าไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ของภูมิภาค (AIGPC) ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย AI ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก แสดงการสนับสนุนการจัดตั้ง AIGPC อย่างเต็มที่

โอกาสนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกชื่มชมการผลักดันนโยบาย Soft Power ของไทย ผ่านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) เช่น งานฝีมือ ศิลปะ และอาหาร โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการยกระดับ Soft Power ที่ครอบคลุมไปสู่ด้านการศึกษา กีฬา ภาพยนตร์และการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อใช้มรดกทางวัฒนธรรมและทักษะช่างฝีมือเป็นจุดแข็ง ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจ ซึ่งทางยูเนสโกสนใจร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานของยูเนสโกในกรุงเทพฯ พร้อมเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเยือนสำนักงานใหญ่ยูเนสโก ณ กรุงปารีส อีกด้วย